แนะนำซีรีส์/หนัง Figure Skating ดูเรื่องอะไรดีน้า?

หนัง figure skating

recommend figure skating film series
หนังไอซ์สเกตเด็ด ๆ มีเรื่องอะไรบ้างนะ ?

พูดถึงหนังกีฬา ก็คงนึกถึงหนังบาส หนังเบสบอลกัน นานน๊านทีจะมีหนังไอซ์สเกต/ฟิกเกอร์สเกต (Figure Skating) ออกมากะเค้ามั่ง ซึ่งมันก็มีอยู่จำนวนหยิบมือ เพราะความที่หนัง FS มันถ่ายทำยากและเฉพาะกลุ่มกว่ากีฬาอื่น จะหาดูมันก็เหลือไม่กี่เรื่อง แล้วเรื่องไหนน่าดูและผ่านเกณฑ์มาตรฐานของเราผู้เป็นคนดูสเกตและคนดูหนังบ้างล่ะ? โพสวันนี้เลยจะพาไปแนะนำตั้งแต่หนังแนว FS จริงจังสมจริง ไปยันแนวหลุดโลก กาวๆ ตัดเหตุผลทิ้งไป หรือแค่มีการสเกตในเรื่องแต่ไม่ได้เกี่ยวกับการแข่งขัน พร้อมทั้งแนะนำว่าก่อนดูว่าควรตั้งความคาดหวังไว้แค่ไหนดี รวมถึงข้อควรระวังในการดูเรื่องนั้นๆ (Trigger Warning) จะได้ไม่เฟล ไม่เหวอหลังดูจบกัน โดยรวบรวมไว้ให้ทั้งภาพยนตร์และซีรีส์คนแสดง แฮ่ ว่าแล้วก็ อ่ะ ไปค่ะ !!


ชวนดูฟิกเกอร์สเกตฉบับ 101

แต่ก่อนอื่น สำหรับคนที่อยากรู้จักกติกาฟิกเกอร์สเกตให้ลึกซึ้งขึ้น แวะมาอ่านบทความซีรีส์ [Figure Skating 101 สำหรับคนดู] ตามลิงค์ข้างล่างนี้ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า Figure Skating ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด !


• ภาพยนตร์

the cutting edge movie

1. The Cutting Edge (1992)

ประเภทแข่ง: คู่ (Pair)

ความสมจริงของสเกต: สมจริงแต่ไส่ไข่บางส่วน

ด็อก นักฮอกกี้ผู้บาดเจ็บระหว่างการแข่งขันจนต้องแขวนรองเท้าไป ได้รับโอกาสจะกลับเข้าสู่วงการกีฬาอีกครั้งแต่ต้องย้ายวงการมาจับคู่กับนักสเกตหญิง เคท นักสเกตสาวหยิ่งยโส เรื่องเยอะ ชายใดมาจับคู่ด้วยต้องยอมแพ้ไปทุกราย นี่คือการจับคู่สุดวายป่วงสู่เส้นทางพิชิตเหรียญทองโอลิมปิกและหัวใจของเขาและเธอ

The Cutting Edge คือหนังรักโรแมนติกที่ผนวกองค์ประกอบสเกตเข้าด้วยกัน ดังนั้นจังหวะจะโคนในหนังจึงเต็มไปด้วยความหนังรักสไตล์ 90s ทั้งโมเมนต์ช่างจิกกัดของพระนาง ความผิดใจ ไล่ง้อไปจนถึงโรแมนติกหวานฉ่ำจัดๆ นอกนั้นเป็นฉากสเกตที่ใส่ไข่บ้างพอหยวนๆได้ เช่นการสเกตในลานมืด ที่ความจริงถ้าเป็นการแข่งเก็บแต้มล่าเหรียญ เค้าจะเปิดไฟแข่งกัน อันที่เราเห็นปิดไฟในชีวิตจริงจะเป็นงานอีเวนท์ที่ไม่ได้แข่งเอาเหรียญขึ้นโพเดียมกัน หรือการมีท่าไม้ตายลับประจำสำนัก Pamchenko เหวี่ยงคู่หูไปรอบ ๆ จนได้ที่ก่อนจะโยนขึ้นไป ลอยตัวหมุนติ้วๆ…แหม่ ทำเป็นกีฬาขว้างค้อนไปได้ 😂😂😂

องค์สามของหนังเดินเรื่องได้ฝืนๆ ทุลักทุเล รีบๆ เล่าไปหน่อย แต่ถ้ามาดูเอาบรรยากาศหนังรัก เพลินๆ มันก็บันเทิงอยู่นา

หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จจนถึงกับมีภาคต่อมาอีกสองภาค (2006, 2008) แต่ไม่ใช้นักแสดงชุดเดิม ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เหลวไม่เป็นท่า ดังนั้นดูภาคเดียวก็พอแล้วล่ะ

sun valley serenade movie

2. Sun Valley Serenade (1941)

ความสมจริงของสเกต: สมจริงแต่เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับการแข่งขัน

นี่เราพาย้อนมาหนังเก่าขาวดำยุค 40s เลยเรอะเนี่ย 55555 หากถามถึงตำนานนักสเกตหญิงที่ควบตำแหน่งนักกีฬาและนักแสดงด้วย คงไม่พ้นคุณยาย Sonja Henie ผู้กวาดเหรียญทองโอลิมปิกสามสมัยติดในค.ศ. 1928 – 1936 (ตำนานนนจริงๆ 5555) ดังนั้นมาดูหนังที่คุณยายแสดงไว้เป็นที่ระลึกก็ไม่เสียหลาย

เนื้อเรื่องว่าด้วย เท็ด หนุ่มนักเปียโนแห่งคณะแจ๊สได้อุปถัมภ์ผู้ลี้ภัย คาเรน ด้วยความปลาบปลื้มในบุญคุณอันใหญ่หลวงที่เท็ดอุปถัมภ์คาเรนมา 55555 ระหว่างที่เค้าและวงไปเล่นดนตรีที่รีสอร์ทบ้านพักตากอากาศ Sun Valley คาเรนก็ไม่วายไปป่วนจนได้เรื่องสิน่า

เนื่องจากหนังเป็นแนวคอเมดี้ ตัวหนังจึงเน้นดูเอาบันเทิงมากกว่าจะไปทักท้วงช่องโหว่ของบทหนังอะไรมากมาย อีกทั้งหนังมันก็เก่ามากกกกแล้ว บทจึงมีความละครไทยชวนขัดใจหน่อยๆ (นั่นแหละ ดูเอาจอยพอ) อีกทั้งในเรื่องยังมีคณะดนตรีแจ๊สและนักสเกตมืออาชีพ หนังจึงขับเคลื่อนด้วยการใช้ดนตรีสวิงแจ๊สและการสเกตโดยแทบไม่ต้องพึ่งตัวแสดงแทนเข้ามาช่วย พร้อมกับฟินาเล่ท้ายเรื่องของหนังที่เป็นฉากสเกตที่ลงทุนย้อมสีลานน้ำแข็งให้กลายเป็นสีดำเพื่อจะได้ดูตื่นตาในฉากสเกตพื้นดำ

ถือว่ามาเสพบรรยากาศหนังขาวดำและกลิ่นอายสเกตช่วงทศวรรษที่ 40 ที่แตกต่างจากสมัยนี้มากๆ ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบล่ะนะ

ถ้าถามว่าเก่าขนาดนี้จะไปหาดูยังไงก่อนนะ ใน Youtube มีคนอัปไว้แบบเต็มเรื่องเลย

blades of glory movie

3. Blades of Glory (2007)

ประเภทแข่ง: คู่ (Pair)

ความสมจริงของสเกต: ไม่สมจริง หลุดโลก กาวทะลุออกไปดาวอังคาร

แชส นักกีฬาดาวเด่นวงการสเกตเกิดหาทำไปทะเลาะกับ จิมมี่ คู่แข่งอันดับหนึ่ง ทะเลาะรุนแรงซะจนโดนสมาคมสั่งแบนห้ามแข่งสเกตเดี่ยว ทว่าหารู้ไม่ว่าช่องว่างทางกติกายั๊งอนุโลมให้พวกเขาสามารถแข่งประเภทคู่ได้ ด้วยจิตใจที่เพรียกหาการสเกตน้ำแข็งของเขาๆ ก็จับคู่สเกตเล่นมันไปด้วยกันซะเลยเซ่ !

เนื้อเรื่องย่อหลุดโลกซะขนาดนี้ แถมมันเป็นหนังที่ Will Ferrell แสดงนำ (เล่นเป็น CEO บริษัท Mattel ในหนัง Barbie) ก็เตรียมตัวเตรียมใจสำหรับความกาวสุดวายป่วงของหนังได้เลย เรื่องนี้ก็เช่นกันที่บทอย่างกาว อย่าได้ลอกเลียนแบบท่าไม้ตายตัดคอ Iron Lotus ในเรื่องเชียวล่ะเพราะมันไม่มีท่านี้อยู่ในชีวิตจริง ! 5555 โดยปกติ ประสบการณ์การดูหนังของเราไม่ค่อยไปได้สวยกับหนัง Will Ferrell เล่นหรอกเพราะมันมีจังหวะล้นๆ ฝืนๆ เช่น Bewitched (2007) ที่เรื่องนั้นแม้จะมีแม่ Nicole Kidman ก็ยังแบกไม่ไหวเลย แต่เรายอมให้กับเรื่องนี้กับอีกเรื่องซึ่งก็คือ Eurovision Song Contest: The Story of Fire Saga (2020)

ถ้าคุณดูโดยถอดเหตุผลทิ้งไปคุณก็จะรู้สึกว่า …. Blades of Glory เกือบจะฝืนตกเหวแล้วแต่ก็ยังไม่ตก ถือว่าสนุกใช้ได้นี่ฝ่า 🤣🤣



ice castles movie

4. Ice Castles (1978)

ประเภทแข่ง: หญิงเดี่ยว

ความสมจริงของสเกต: สมจริงแต่ใส่ไข่บางส่วน

พูดถึงหนังสเกตทั้งที คงจะขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้ เราเคยอวยระดับเป็นหนังในดวงใจกันไปแล้วในอีกโพสที่เขียนยาวมาก 5555 ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า Ice Castles เป็นหนังคลาสสิกไอซ์สเกตที่ควรค่าแก่การดู เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ เลกซี่ นักสเกตจากชนบทมากฝีมือ ที่โค้ชแมวมองเห็นแววจึงดึงตัวไปเพื่อปั้นให้เป็นดาวโอลิมปิก ทว่าโชคชะตาไม่เป็นใจ เลกซี่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้โลกรอบตัวที่เธอเห็นกลายเป็นเพียงภาพเบลอๆ มองไม่เห็นชัดเหมือนแต่ก่อนแล้ว แบบนี้ฝันของเธอที่ยังอยากสเกตจะยังเป็นไปได้หรือไม่ !?

เรื่องนี้ทรงคล้าย ๆ กับ The Cutting Edge ตรงที่มันเป็นหนังรักที่ใช้การสเกตเป็นส่วนประกอบเดินเรื่องร่วม แต่เรื่องนี้จะเด่นกว่าตรงที่สมจริงกว่า ไม่มีท่าไม้ตายลับประจำสำนักอะไรทั้งนั้น 5555 และด้วยความที่นักแสดงหญิงเป็นนักสเกตตัวจริงก่อนจะผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ดังนั้นฉากสเกตทั้งหมดในเรื่องจึงเป็นเธอเล่นเอง แต่ก็ยังมีจุดใส่ไข่บ้าง เช่นฉากอุบัติเหตุที่ดูๆ ไป เอ๊ะๆ แบบนี้ก็ได้เหรอ เป็นไปได้จริงเหรอที่เธอจะสเกตทั้ง ๆ ที่มองอะไรไม่เห็นเลย นักสเกตตัวจริงที่เคยทำสกู๊ปรีแอคหนังเรื่องนี้ยังเคยทักว่า “ในชีวิตจริงมันยากมากๆนะที่จะสเกตโดยที่มองไม่เห็นแบบนั้นได้ จะเก่งเกินไปแล้ว”

ใครที่สนใจคลิปสกู๊ปนักสเกตทีมชาติมานั่งรีแอคหนังสเกตเป็นเรื่องๆ มีให้ดูถึงสามคลิปเลยทีเดียว

คลิป 1 (โดย Adam Rippon) | คลิป 2 (โดย Nathan Chen) | คลิป 3 (โดย Mariah Bell)

สำหรับคนดูที่เป็นแฟนสเกตเป็นทุนเดิม เรื่องนี้ยิ่งทรงคุณค่าเพราะเราจะได้เห็นบริบทสังคม บรรยากาศวงการสเกตใน 40 กว่าปีที่แล้วซึ่งมันแตกต่างจากเดี๋ยวนี้มากๆ และหนัง/คลิปสเกตในบริบท 40 ปีที่แล้วก็ไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ แถมเรื่องนี้แช่กล้องและใช้การตัดต่อฉากสเกตน้อยสุดๆ ราวกับว่าเรากำลังดูสารคดี หนังเรื่องนี้เลยเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์กลายๆ ไม่ว่าจะระบบคะแนนที่ยังใช้กระดาษเขียน จะประกาศคะแนนต้องให้นักสเกตออกมาถือป้ายคะแนน เทรนด์การแต่งกายในสมัยนั้นที่ฮิตใส่ชุดรัดรูป+เลกกิ้ง ทรงผมตัดสั้นที่นักสเกตผู้หญิงสมัยนั้นฮิตตัด (เค้าว่าตัดตาม Dorothy Hamill ที่เป็นนักสเกตเมกาที่โด่งดังช่วง 70s) ท่าใช้แข่งที่ถ้าหากมองจากเลนส์สมัยนี้คือง่ายเกิน 😂😭

ไหนจะมีเพลงธีมหนัง Looking through the eyes of love ที่เป็นระดับตำนานติดหูคนยุค 70s ในการดีดโคเวอร์หรือเอามาใช้ในงานแต่งงาน (แต่ดันไม่ใช่เพลงฮิตในการมาสเกตแข่งแฮะ ฮือออ)

ทั้งนี้ ตัวหนังก็อยู่ในบริบทสังคมยุคเก่าๆ เช่นรักห่างวัยที่ถ้ามองจากเลนส์สังคมสมัยปัจจุบันมันก็ดูบ้งเช่นกัน ต้องดูแบบใส่ฟิลเตอร์ว่านี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน

ice princess movie

5. Ice Princess (2005)

ประเภทแข่ง: หญิงเดี่ยว

ความสมจริงของสเกต: สมจริงแต่ใส่ไข่บางส่วน

เรื่องนี้คงจะเป็นหนังไอซ์สเกตในดวงใจในวันวานของหลายๆคน เป็นหนังเจนเดียวกันกับ High School Musical ของค่าย Walt Disney

เคซี่ สาวน้อยเรียนดีผู้กำลังขอทุนม. Harvard แต่จะทำอย่างไรเมื่อเธอต้องเลือกฝันระหว่างนักเรียนทุนกับแชมป์ Figure Skating

เมื่อหนังเรื่องนี้เป็นของค่าย Disney ก็จงดูเรื่องนี้ด้วยฟีลหนังฟีลกู๊ดสไตล์ดิสนีย์ซะ ความสมจริงรึอะไร อย่าไปทักเค้าเยอะเพราะเดี๋ยวจะจ้อจี้ก่อน ฮาา จี้จนถึงมีคนทำคลิปว่าเรื่องนี้ถ้ามองตามกรอบความเป็นจริง มันมีช่องโหว่เต็มไปหมด ทั้งการปิดไฟแข่งเอย (อีกละ) การแข่งโดยใช้เพลงมีเนื้อร้องเอย (สมัยนั้นกติกายังไม่อนุญาตให้ใช้เพลงมีเนื้อร้องแข่ง) การที่นางเอกยืนนิ่งมองคนดูค้างเป็นหลายวินาทีระหว่างแข่งเอย การที่จู่ๆ รถแซมโบนี่เกลี่ยน้ำแข็งขับมาจากไหนไม่รู้ออกนอกสนามมาบ้านนางเอกได้ด้วย ง๊งงง ! 🤣🤣 แต่ถ้าดูโดยถอดกรอบความสมจริงคือมันช่างลงตัวบันเทิงใจ แม้จะมีจุดให้จับผิดใส่ไข่ตามความภาพยนตร์แต่มันก็เป็นหนังบันเทิงครอบครัวที่หยิบมาดูก็ชวนอมยิ้ม ผ่อนคลายได้ อีกทั้งได้เห็นวันวานการแสดงของ Hayden Panettiere เพื่อนนางเอกที่หลังจากนั้นเธอจะมาดังต่อในบทบาทเชียร์ลีดเดอร์ผู้เป็นอมตะในซีรีส์ Heroes กับซีรีส์เพลงลูกทุ่ง Nashville

ไหนจะได้เห็น Michelle Kwan นักกีฬาสเกตหญิงของจริงช่วงปี 2000s มารับเชิญเล่นเป็นนักพากย์กีฬาข้างสนามให้ในหนังอีกด้วย (เจ๊ถูกรับเชิญไปอยู่ในหนังสเกตบ่อยนะ 5555 Ice Castles รีเมคปี 2010 ก็ถูกเชิญไปแสดงในบทนักพากย์เหมือนกัน)

และในรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องนี้มี Lynn-Holly Johnson นักแสดงรุ่นเก๋าจาก Ice Castles ในข้อสี่ รับเชิญมาในงานด้วย

i tonya movie

6. I, Tonya (2017)

ประเภทแข่ง: หญิงเดี่ยว

ความสมจริงของสเกต: สมจริง อิงจากเหตุการณ์จริง

Trigger Warning: มีการพูดถึงภาวะสุขภาพจิต (Mental Illness), Abusive การทำร้าย การควบคุมในครอบครัวและในความสัมพันธ์

กีฬา Figure Skating เป็นกีฬาที่มีข่าวฉาวแทบจะทุกห้าปีสิบปีไม่ซ้ำเรื่อง ในยุค 2000s ฝั่งสเกตหญิงในประเทศอเมริกาก็มีประเด็นนั่นคือคู่กรณี Tonya Harding และ Nancy Kerrigan ที่เพื่อนของแฟนทอนย่าไปทำร้ายแนนซี่ และส่งผลให้ในเวลาต่อมา ทอนย่าถูกแบนจากสมาคมสเกต ISU และไม่สามารถแข่งในฐานะนักกีฬาสเกตน้ำแข็งได้อีกต่อไป

หนังเดินเรื่องโฟกัสที่ตัวทอนย่ากับต้นกำเนิดว่าในช่วงชีวิตเธอตั้งแต่เล็กจนโต เธอเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่บิดเบี้ยวมากแค่ไหน แม้ว่าเธอจะเป็นนักกีฬาผู้มีพรสวรรค์ระดับที่สามารถกระโดดท่า Triple Axel (3A) ซึ่งมีผู้หญิงน้อยคนจะทำได้ ณ สมัยนั้น แต่ด้วยปัจจัยรอบข้างที่ไม่สนับสนุน คนพาล, คน Toxic รอบตัวทั้งหลายแหล่ซึ่งหล่อหลอมตัวเธอได้ส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น หนังถ่ายทอดความบิดเบี้ยวตรงนี้ได้หดหู่พอสมควร จึงไม่ใช่หนังดูสนุกเพลินๆ จอยๆ ได้แบบเรื่องอื่นๆ

พูดถึงความสมจริงของสเกตในเรื่องนี้ เรียกได้ว่าถอดฉากสเกตออกมาได้ช็อตต่อช็อต ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม คอสตูม ท่าเต้น (Choreography) ที่หลุดมาเหมือนที่ทอนย่าเคยสเกตไว้จริงๆเลย คลิปเปรียบเทียบ

สุดท้ายท้ายสุดไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วทอนย่ามีส่วนรู้เห็นกับสิ่งที่เพื่อนแฟนเธอทำหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการที่คนที่เธอรู้จักเป็นคนลงมือ การลงดาบจากสมาคมจึงเป็นคำตัดสินที่เป็นไปตามกระบวนการ

ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์อิงชีวิตจริง ก็ต้องดูแบบต๊ะๆ เผื่อๆ ความใส่ไข่ใส่อรรถรสของหนังที่อาจไม่ตรงกับความจริงได้ เหมือนเวลาดูสารคดีกีฬา ที่คนทำสารคดีก็สามารถตัดต่อหรือเล่าเรื่องให้เข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ ถือว่าดูไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จากการกระทำได้นำไปสู่ผลลัพธ์อะไร และก็ดูเป็นกรณีศึกษาได้เช่นกันว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สภาพสังคมอันบิดเบี้ยวได้หล่อหลอมให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมา ดั่งเช่นที่หนังสือ What happened to you ของ Oprah Winfrey ได้เขียนไว้ว่าผลพวงจากพฤติกรรมมนุษย์อันผิดเพี้ยนก็สืบทอดมาจากสังคมที่บิดเบี้ยวและส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ จากรุ่นสู่รุ่น



• ซีรีส์

spinning out series

7. Spinning Out (2020) — Netflix

ประเภทแข่ง: คู่ (Pair)

ความสมจริง: สมจริงแต่ใส่ไข่บางส่วน

Trigger Warning: มีการพูดถึงภาวะสุขภาพจิต (Mental Illness)

มันมีซีรีส์คนแสดงแนว FS ไม่กี่เรื่องหรอก ส่วนมากทำเป็นหนังซะมากกว่า มันก็มีเรื่องนี้เรื่องเดียวที่ยังไม่เก่าเท่าไหร่แถมทำดีทำถึงอีกด้วยต่างหาก แต่ถ้าพวกซีรีส์ฮอคกี้ พอเห็นอยู่บ้างนะ เช่น ซีรีส์ญี่ปุ่น Pride

เคท นักกีฬาตัวท็อปหญิงเดี่ยวที่ประสบอุบัติเหตุเลยต้องย้ายมาเล่นประเภทคู่กับ จัสติน (ที่เห็นเบ้าหน้าแวบแรกแล้วคิดว่าไปแสดงเป็นกัปตัน อเมริกาวัยเด็กได้นะเนี่ย) คอนเทนต์สเกตในเรื่องกำลังสมส่วนทำให้แฟนสเกตดูแบบฟินๆ และคนธรรมดาก็ดูสนุก จอยๆ ได้เช่นกัน

ซีรีส์ผสมผสานมิติความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งคู่พระ/นาง คู่นางเอก/แม่นางเอก, การแข่งขันกีฬา, ประเด็นสุขภาพจิตได้อย่างลงตัว หน้าฉากวงการสเกตมันช่างสวยงามแต่เบื้องหลังนั้นเจ็บปวด ไม่ว่าจะไม่มีเงินจึงต้องตัดชุดเอง เวลาวัยเด็กที่แลกไปกับการฝึก

ซีรีส์ยังพาไปดูประเด็นอื่นๆด้วยเช่น ปัญหาภายในครอบครัว, Mental Illness เลิฟไลน์เลี่ยนๆ ที่ใส่เข้ามาประหนึ่งนิยายไฮสคูลมาเอง ดูบางโมเมนต์ก็อิหยังวะ หงุดหงิดๆ ไป 5555 และมีจุดใส่ไข่ที่เคยมีนักกีฬาออกมาเล่าว่ามีหลายตรงที่ไม่สมจริงนะ เช่นการเมาเหล้าหัวราน้ำถึงเช้า ขืนทำแบบนั้นประจำ ตัวอ้วนฉุตาย 5555 เพราะกีฬานี้ค่อนข้างเคร่งในการควบคุมน้ำหนักและโภชนาการ แต่ถ้ามองแบบรวมๆ มันก็หยวนๆ กันได้

ที่สำคัญมีนักแสดงที่ไม่เห็นหน้าตาในหนังใหญ่มานานอย่าง January Jones แม่เล่นดุมาก ! ไหนจะ Easter Eggs ต่างๆ ที่แฟนสเกตเห็นต้องได้คลับคล้ายคลับคลา (เว็บนี้มีรวบรวมเอาไว้) เช่นนักแสดงรับเชิญบางคนที่เอานักกีฬาสเกตตัวจริงๆ มาแสดง เสื้อผ้าหน้าผมที่เห็นบางชุดแล้วชวนให้นึกถึงชุดที่นักสเกตตัวดัง ๆ เคยใส่แข่งในชีวิตจริง


จบกันไปแล้วกับเจ็ดเรื่องจาก Figure Skating ที่เราแนะนำ คัดแบบเนื้อๆ เน้นๆ จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่ได้ใส่มา บางเรื่องมีกาวๆ ระดับ นักฮอคกี้ตายแล้วลงมาสิงในร่างนักสเกตงี้ 5555 แต่จากบทจากอะไรก็ไม่ผ่านเกณฑ์เราเท่าไหร่ มันเลยเหลือแค่ 7 เรื่องนี้แล ใครอ่านเรื่องไหนแล้วถูกจริต น่าสนใจ อยากลองไปตำก้อออ ลุย !!!!


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Medalist มังงะฟิกเกอร์สเก็ตเรื่องล่าสุดแห่งปี 2020 รอคอยเซตติ้งแบบนี้มานานแล้ว !

ประสบการณ์ไปดูงานแข่งไอซ์สเกต ISU Junior Grand Prix Bangkok 2023 รายการสเกตระดับลีกใหญ่ครั้งแรกในไทย

🎬 รีวิวหนังกีฬาฉบับสั้น: Operation Flagrant Foul/Air/Moneyball

🎬 [รีวิวสั้น] หนังเพลงเก๋าๆ: Footloose/Flashdance/Grease

🎬 รีวิว Ice Castles (2010) รีเมคหนังคลาสสิกไอซ์สเกตจากผู้กำกับเดิมที่ก้าวข้ามต้นฉบับไม่ได้

🎬 รีวิว West Side Story The Musical นี่สินะรสชาติของการดูละครเพลงสด

📚 อ่านรีวิวภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ: https://gleegmjournal.com/tag/movie-series/

🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 🎬 รีวิว Film Series หนัง ซีรีส์

📊 Data Analytics – Tech | สารพันวงการ Data และเรื่อง Techๆ | 🪴 สารบัญรีวิวทุกประเภท All Reviews

หนัง figure skating

Loading

GleeGM

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...