รีวิว Medalist ทอฝันบนลานสเกต มังงะฟิกเกอร์สเกตสายรางวัล รอคอยเซตติ้งแบบนี้มานานแล้ว !

รีวิว medalist

medalist manga artwork
ภาพสีโปรโมต Medalist โปรดสังเกตเงาสะท้อนในเบลด(ใบมีด)รองเท้า

เกริ่นนำ

เมื่อไม่นานมานี้ ทราบข่าวว่ามีมังงะเกี่ยวกับ Figure Skating เรื่องล่าสุด เพิ่งเขียนออกมาในช่วงกลางปี 2020 อย่าง Medalist สำหรับแฟนสเกตอย่างเรา มันทำให้อดตื่นเต้นอีกครั้งไม่ได้ ! 55555 ยิ่ง Figure Skating เป็นกีฬาสุดเฉพาะกลุ่ม จึงมีคนผลิตคอนเทนต์กีฬานี้น้อยกว่ากีฬาประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะสื่อบันเทิงอย่างกลุ่มมังงะ/อนิเมะ และพอได้ลองอ่านจริง ตัวมังงะกลับทำได้เกินความคาดหมายและตอบโจทย์ในความต้องการเราหลาย ๆ ประการด้วย ! เดี๋ยววันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่ามันเป็นอะไรยังไงบ้าง

จะว่าไป Figure Skating เองเป็นกีฬาที่ช่วงหลังมานี้เริ่มถูกพูดถึงในเมืองไทยเป็นวงกว้างมากขึ้น ทั้งการเข้าถึงและการดูรายการสเกตที่ทำได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน, สมาคมสเกตไทยเราได้จัดการแข่งระดับนานาชาติแล้ว หรือจะอิทธิพลของอนิเมะแนวสเกตน้ำแข็งที่กระแสตอบรับออกมาเป็นเชิงบวกอย่าง Yuri on Ice!! (เกือบสิบปีแล้วแฮะ) ส่วนอนิเม Figure Skating เรื่องอื่นเห็นจะมี Ginban Kaleidoscope ที่ต้นฉบับเป็น Light Novel ก่อนจะถูกดัดแปลงให้เป็นมังงะและอนิเมะตามลำดับและเรื่องล่าสุดในตลาดตอนที่เริ่มเขียนบทความนี้ (2021) คือ Skate-leading Stars

ชวนดูฟิกเกอร์สเกตฉบับ 101 (โพสสามตอนจบ)

มาปูพื้นฐาน Figure Skating ฉบับคนดูกันเถอะ !

สำหรับคนที่สนใจอยากปูพื้นฐานดู Figure Skating ให้รู้เรื่องขึ้น เรามี [Figure Skating 101 สำหรับคนดู] ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า Figure Skating ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด ! กดดูแต่ละโพสด้านล่างได้เลย

[ตอนที่ 1] มาแยกท่า Jump ใน Figure Skating กันเถอะ ฉบับเทคนิคน้อย
[ตอนที่ 2] มาอ่าน ใบคะแนน ของ Figure Skating กันเถอะ ฉบับเลขน้อย (เหรอ !?)
[ตอนที่ 3] ในหนึ่งฤดูกาลแข่ง(ซีซัน) Figure Skating มีอะไรบ้าง ? + วิธีดูไลฟ์แข่งสด



สำหรับเราที่เป็นแฟนขาจรของ Figure Skating เริ่มมาตามดูเป็นคนๆ ช่วง 2012 – 2013 จากที่กดสุ่มรายการในช่องเคเบิ้ลที่บ้านแล้วไปเจอรายการสเกตเอเชียที่บังเอิญมีน้องคนไทยไปแข่ง ก่อนจะไปจ๊ะเอ๋ปลุกไฟในตัวคุณอีกรอบกับทวิตของบัญชีทวิตเตอร์นักวาดการ์ตูน Gakuen Alice (วัยซนคนมีพลังจิต) ที่เค้าชอบหวีดสเกต เออ จุดเริ่มต้นแปลกดี 55555 สมัยนั้นหาดูสดยากมาก ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้สมาคมสเกต ISU อัปไลฟ์ลง Youtube กลับมาดูย้อนหลังสบายๆ และพื้นเพเราชอบอ่านการ์ตูนเป็นทุนเดิมด้วย(แวะอ่านบล็อกรีวิวอนิเมเรื่องอื่น ๆ ของเราได้ในลิงค์นี้)

ดังนั้นถ้ามีมังงะหรืออนิเมะที่เป็นแนว Figure Skating ผลิตออกมาก็กระตุกต่อมสนใจเราได้ง่ายๆ 5555 หลังจากที่เราดู Yuri on Ice!! จบไป เรารู้สึกโอเคกับมันในระดับนึง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างของการเป็นอนิเมชั่นและจำนวนตอนที่จำกัดเพราะมีแผนฉายแค่ 1 ซีซัน มันคงเล่าได้ไม่เต็มอิ่มเท่าไหร่นัก ประกอบกับเดิมทีเราตามแต่สเกตฝั่งหญิงเดี่ยวจากยุคสุดขับเคี่ยวของ Kim Yuna และ Asada Mao (ตอนนี้ก็มีแวะไปดูประเภทอื่นประปรายบ้าง แต่ก็ดูหลักๆ อยู่แค่ฝั่งหญิงเดี่ยวนี่ละ) ฉะนั้นการที่มาเจอมังงะ FS ที่ตัวเอกของเรื่องคือฝั่งหญิงมันจึงรีเลทกับเราเป็นพิเศษ

medalist cover volume 1 & 2
ปก Medalist เล่ม 1, 2

เนื้อเรื่องย่อในช่วงเล่มที่ 1

สึกาสะ ชายหนุ่มผู้ไปไม่ถึงฝั่งฝันในการแข่งสเกตลีลาประเภทเดี่ยวในวัยเยาว์เพราะเริ่มสเกตช้าไป และต้องผันไปแข่งประเภทคู่ไอซ์แดนซ์แทน แถมตอนนี้ก็กำลังตกงาน เขาทยอยสมัครงานพวกอีเวนท์สเกตต่างๆ แต่โดนปฏิเสธไปเสียทุกราย จนกระทั่งเขามีโอกาสประสบพบเจอกับเจ้าหนูอิโนริ เด็กหญิง ป.5 ผู้มีไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ถ้าโดนใครตำหนิติเตียนเธอหน่อย เธอสามารถขวัญเสียได้เลยแต่ถึงกระนั้นเธออยากเล่นสเกตน้ำแข็งจริงจัง ซึ่งมันค่อนข้างเริ่มช้าในวัยของเธอ (กีฬานี้อาศัยความตัวอ่อนสูงจึงควรฝึกตั้งแต่ยังเล็กราวๆ 5-6 ขวบ) ทว่าเธอแสดงศักยภาพทางด้านกีฬาสูงจนสึกาสะเห็นแวว แถมเห็นภาพซ้อนกับตัวเค้าในอดีต และเมื่อได้สัมผัสความมุ่งมั่นของน้องที่อยากจะเรียนสเกต เค้าจึงอาสาตัวเองบอกคุณแม่อิโนริว่าเค้าจะขอโค้ชให้น้องคนนี้ ! คราวนี้ สึกาสะจะสานฝันให้อิโนริได้สำเร็จมั้ยนะ !?

ความเห็นหลังอ่านเล่ม 1-11 จบ

ตอนแรกที่เราอ่าน…ก็อ่านแบบไม่คาดหวังสูงไปก่อนล่ะนะเพราะเข็ดจากความคาดหวังสูงไว้หลายเรื่อง ฮา แต่เรื่องนี้ทำได้เซอร์ไพรส์ในหลายๆ ประการ ประการแรกคนเขียน TSURUMAIKADA ตั้งใจหาข้อมูลกีฬานี้ถึงกับไปลองเล่นสเกตเอง (แล้วก็มาเล่าในปกพับเล่ม 1 ว่าเพิ่งบาดเจ็บจากการเล่นสเกตน้ำแข็ง😭) ในมังงะเองมีเขียนเครดิตท้ายเล่มขอบคุณผู้เชี่ยวชาญวงการสเกต ซึ่งแปลว่าเขาไปหาผู้เชี่ยวชาญวงการนี้มาให้คำแนะนำในส่วนเทคนิคสเกตเพิ่มเพื่อคอยให้ Reference ส่วนลายเส้นวาดได้สวยเกินต้าน หมดห่วงได้เลย ลูกตาเป็นประกาย เบลดน้ำแข็งกระเซ็นขึ้นมาคมๆ

ลายเส้นของ TSURUMAIKADA


ประการต่อมาคือเซตติ้งที่ทำได้ตอบโจทย์เรา ก็ตัวเอกเป็นฝั่งหญิงนี่นา ช่วงกลางเล่ม 1 เป้าหมายน้องอิโนริบอกกับสึกาสะว่า เธออยากไปโอลิมปิก ง่อววว น้องไม่ได้มาเล่นๆ ด้วยความที่เธอเพิ่ง ป.5 (อายุคงราวๆ 10-11) กว่าจะถึงโอลิมปิกรุ่นผู้ใหญ่ อายุขั้นต่ำก็ต้องเข้า 15 ปี (แต่ถ้าอ้างอิงกฎตัวล่าสุดที่เพิ่งแก้ไขตอน 2022 อายุขั้นต่ำสำหรับ Winter Olympics Milano 2026 คือ 17 ปี) แล้วเมื่อปลายทางคือโอลิมปิก เราเลยแทงไว้ว่าเนื้อเรื่องคงจะมีไทม์สคิปคล้ายๆ 666 ซาตาน (O-Parts Hunter) ซึ่งช่วงเล่มแรกๆ เป็นเนื้อเรื่องตัวละครวัยเด็กก่อนเขยิบไปตอนโตแล้ว จากต้นเรื่องที่น้องอายุ 11 จนถึงราวเล่มสิบที่อายุ 13 ตัวโตขึ้นแล้ว ง่อววว มาลุ้นดีไซน์น้องตอนโตกว่านี้กับบุคลิกว่าจะพัฒนาขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไหนจะคู่แข่งที่ดูผู้เขียนจะชูเทียบเคียงอย่างน้องมิเกะหรือฮิคารุที่เขียนคาแรคเตอร์ออกมาได้น่าเชียร์เหมือนกัน

นอกเหนือไปจากการแข่งขันระหว่างนักกีฬาแล้วยังมีการแข่งขันระหว่างโค้ชอีกด้วย นั่นคือโค้ชของฮิคารุ จุน โยดากะ (Jun Yodaka) อดีตนักกีฬาสเกตชายเดี่ยวระดับท็อปที่สึกาสะชื่นชมและเคยอยากไปเทียบชั้นเท่าเค้า ถึงตอนนิ่ง ๆ จะดูหล่อเท่แต่ก็ปากร้ายจัด เคยด่าอิโนริให้เสียขวัญจนตัวสั่นเทาไปหมด

เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโค้ช นักกีฬา การต่อสู้ระหว่างนักกีฬาด้วยกันเองและโค้ชอีกต่อนึง อ่านแค่นี้ก็ดูน่าสนุกแล้วเนอะ

medalist manga artwork
ภาพสีโปรโมต Medalist

เนื้อหาด้านเทคนิค Figure Skating

ในส่วนของเนื้อเรื่องกับเซตติ้งผ่านเกณฑ์ความคาดหวังเราไปแล้ว ส่วนต่อมาที่อดพูดไม่ได้สำหรับการ์ตูนกีฬาคือเรื่องของเทคนิค เราค่อนข้างประทับใจคือในการ์ตูนมีอธิบายเทคนิคหลายๆ อย่างที่ฝั่งคนดูคงไม่ได้พบเห็นหน้ากล้องด้วย เช่นการฝึกท่าๆ หนึ่งต้องฝึกท่าเบสิกอะไรบ้าง บิดข้อเท้าอย่างไร เพราะเป็นข้อมูลสำหรับคนที่เรียนสเกตจริงๆ ศัพท์เทคนิคบางคำเราเพิ่งจะรู้จักเช่น ระยะห่างตอนนักสเกตเข้าไปวอร์มอัพเค้าเรียกว่าสโตรค (Stroke) และประทับใจมากขึ้นเมื่อยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ เนื้อเรื่องสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวงการสเกตที่กลุ่มคนดูขาจรอาจไม่ทราบเลยถ้าไม่ได้ตั้งใจหาข้อมูลจริงๆ (หรือส่งลูกไปเรียนสเกต)

การ์ตูนแนะนำเบสิก 101 ในฉบับที่คนไม่เคยดูสเกตก็ตามทันได้ไม่ยาก เช่น

  • โปรแกรมแข่งสเกตมีสองวันสองโปรแกรมอย่าง Short Program, Free Skate แต่ละวันใส่ท่าไหนได้บ้าง ท่าไหนใส่ไม่ได้
  • ท่ากระโดดต่าง ๆ ในการแข่งมีอะไร และความแตกต่างหรือเทคนิคการดูท่ากระโดดให้ออก
  • วิธีคำนวณคะแนนท่ากระโดดต่างๆ (ที่เรียกว่า GOE) หรือ Step Sequence คืออะไร มีกี่ระดับ(ช่วงที่นักกีฬาใช้สเต็ปเท้า-หมุนเท้าเป็นแพทเทิร์นต่างๆ)
  • การใส่ท่ากระโดดไว้ช่วงครึ่งหลังจะได้คะแนนที่มากกว่าครึ่งแรก
  • การที่คนถือถังน้ำแข็งเข้าไปถมน้ำแข็งตบๆ ในหลุมบนลานไอซ์ระหว่างพักเพราะเพียงแค่ใช้รถ Zamboni (รถเกลี่ยน้ำแข็ง) เข้าไปมันไม่เพียงพอ

เรียกได้ว่าแทบการ์ตูนมัดรวมสาระสำคัญๆ ของ Figure Skating โดยที่ไม่ต้องไปควานอ่านตามเน็ตที่บทความอยู่กระจัดกระจาย เพราะคนอ่านจะได้ปูพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นไปพร้อมกับนางเอก แต่เนื่องด้วยเนื้อหาภาคเทคนิคที่มันเยอะ การ์ตูนเรื่องนี้ในหลายๆ หน้า (ย้ำว่าหลายหน้า) ตัวอักษรจึงเยอะมากๆๆ เยอะในระดับที่เหมือนเรากำลังอ่านตำราเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีรูปประกอบ ใครแซวๆ ว่า Hunter x Hunter ตัวหนังสือเยอะจัง เรื่องนี้ก็ไม่แพ้กันนะ ฮาาา

แถมมีเนื้อหาส่วนที่เราไม่เคยรู้มาก่อนคือ การสอบวัดระดับ เนื่องจากอิโนริฝึกสเกตช้ากว่าใครเพื่อน ไหนเธอจะต้องรีบไต่ระดับไล่ให้ทันฮิคารุ เนื้อเรื่องพาไปเข้าใจระบบไต่ระดับของสมาคมสเกตญี่ปุ่นซึ่งถ้าใครคลุกคลีอยู่กับวงการสเกตญี่ปุ่นมานาน (สมาคม JSF) ก็อาจจะพอทราบ แต่อย่างว่า ข้อมูลสอบวัดระดับของฝั่งญี่ปุ่นนี่เรียกว่าเป็นกล่องดำสำหรับคนดูอย่างเราเลยก็ว่าได้ Medalist จึงเปิดเลนส์เปิดโลกเราอะไรให้เราหลายๆ อย่างมากขึ้นในด้านเทคนิค

medalist billboard ikebukuro station
ป้ายโฆษณา Medalist ที่สถานีรถไฟอิเคะบุคุโระ
ที่มา Twitter Official

ความสนุกในด้านการเป็นการ์ตูนกีฬา

ขึ้นชื่อว่าการ์ตูนกีฬา มันต้องทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นขับเคี่ยวในการทำคะแนนเหมือนดูกีฬานะ ซึ่งเอาจริง หลังจากที่สังเกตมา ฟอร์แมตอนิเมะกีฬามันค่อนข้างเสียเปรียบกว่ามังงะกีฬาเพราะ “กีฬา” อาศัยฉากที่มีการเคลื่อนไหวสูง ถ้าสตูดิโออนิเมชั่นไม่ประณีตหรือเผางานขึ้นมาหน่อยเดียว คนดูสามารถจับผิดและหักคะแนนได้โดยง่ายต่างกับแนวอื่นๆ เช่น Slice of Life ที่อาจพอถูไถฉากเผาซ่อนได้เนียนๆ จุดนี้เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มังงะกีฬาอ่านสนุกแต่งานดัดแปลงอนิเมะของมันเองกลับแผ่วลง ขนาดที่ว่าเรื่องนี้เองก็ได้ประกาศทำอนิเมะแล้ว ก็ยังหวาดเสียวเลยว่า ฉากที่เคลื่อนไหวเยอะๆ มันอาจจะดูสะดุดจนสังเกตได้ และรู้สึกว่าตัวงานดรอปลงมา (แล้วการอนิเมทฉากละเอียดๆ พวกนี้ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษด้วยเนี่ยสิ)



แหม ร่ายกันไปยาวเหยียด สรุป Medalist ผ่านมั้ย ?? หลังจากที่ลองอ่านฉากแข่งสเกต เหยย มันเล่าเข้มข้นอยู่นะ เอ้อ การ์ตูนใส่มาให้ด้วยว่าตัวละครสเกตเพลงอะไร เราต้องเปิดเพลงคลอด้วยสินะ 😂 เช่น เพลง Jupiter ของ Gustav Holst / Danse Macabre ของ Saint-Saens (ซึ่งเพลงหลังนี่ ในวงการก็นิยมสเกตเพลงนี้แข่งอยู่) เสียดาย เล่มหลังๆ ใช้เพลงแต่งขึ้นมาใหม่ในเรื่องแทน และก็มีแค่สองเพลงตะกี้แหละที่เป็นเพลงที่มีอยู่ในชีวิตจริง

ระหว่างที่แข่งสเกต คนเขียนไม่ได้เขียนโฟกัสไปที่นักกีฬาที่กำลังสเกตคนเดียว แต่ให้คนอ่านสัมผัสบรรยากาศในสนาม/นอกสนาม กรรมการคิดอะไรอยู่ โค้ชสึกาสะคิดอะไร คนดูมีรีแอคชั่นยังไง มีการแสดงชื่อท่ากระโดดให้เห็นด้วยว่าตัวละครจะกระโดดท่าอะไรบ้าง การคำนวณคะแนนท่าเทคนิคแบบคร่าวๆ เกริ่นแนะนำท่าสเกตน้ำแข็งท่านี้คืออะไรเพื่อไม่ให้คนอ่านที่ไม่มีพื้นฐานเลยรู้สึกไม่รู้เรื่อง การแก้เกมส์เปลี่ยนท่ากระโดดระหว่างแข่งเพื่อที่จะพลิกคะแนนมาตีตื้นหากนักกีฬาเกิดผิดคิวจากที่แผนที่วางเอาไว้เดิม ซึ่งก็เป็นเคสที่เกิดขึ้นจริงบ้างตอนเวลาแข่ง

tsukasa pain
ลายเส้นที่เข้าใจอารมณ์ของตัวละครได้ในทันที

แม้กระทั่งฉากสะเทือนใจจนตัวละครในเรื่องร้องไห้หรือดีใจออกมาซึ่งมันประคองจังหวะและถ่ายทอดออกมาได้ถึงคนอ่านจริงๆ เช่นฉากที่นักกีฬากำลังกดดันเพราะถ้ากระโดดท่านี้ไม่สำเร็จ คะแนนสะสมเธอจะไม่ถึงและไม่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งลายเส้นและจังหวะจะโคนที่คนเขียนวาดก็ทำให้คนดูรู้สึกลุ้นไปตามๆ กันว่าจะทำได้มั้ย ทำได้รึเปล่า หรือจังหวะที่นักกีฬาต้องกระโดดท่าคอมโบยากๆ จนคนดูในสนามตกใจ ก็ทำให้คนอ่านรู้สึกประหลาดใจเช่นกัน เพราะเนื้อเรื่องปูปูมหลังของตัวละครมาอย่างมีเหตุมีผล เป็นการอ่านการ์ตูนที่ทำให้เลือดสูบฉีดไม่แพ้ตอนอ่านการ์ตูนแอ๊คชั่นเลย

นับว่าในส่วนนี้ การ์ตูนสามารถตอบโจทย์เราได้ดี สอบผ่านในการนำเสนอทางด้านความสนุกทางกีฬา ถ้าจะมีจุดให้ติงก็คงเป็นความเวอร์นิดๆ ตามสไตล์การ์ตูนที่ไม่ถึงกับระดับซูเปอร์พาวเวอร์แต่ชวนแซวหน่อยๆ เช่น น้องๆ รุ่น Novice ตะลุยโดด Quad (หมุนตัวสี่รอบ) กันจริงจัง ทำไมรีบ แฮ่ ซึ่งในชีวิตจริง ฝั่งหญิงญี่ปุ่นที่โดด Quad แล้วมาใช้แข่งจริงจังก็มีเพียงหยิบมือ (แต่ถ้าฝั่งรัสเซียล่ะก็ กระโดด Quad ตั้งแต่รุ่นเล็กจนเป็นเรื่องปกติ ถึงจริงๆ จะไม่ใช่เรื่องดีในด้านกายภาพนักในการรีบดันศักยภาพร่างกายเด็กให้เล่นท่ายากๆ)

กับส่วนที่ว่าเมื่อเราอ่านมาถึงสิบเล่ม ปูมหลังของการปูตัวละครอิโนริ /สึกาสะ เคมีของโค้ชนักเรียนปูออกมาได้แข็งแรงจนไร้ขอกังขาแล้ว แต่นักกีฬาคนอื่นส่วนใหญ่ มี Screen Time (โผล่มาบ่อยมั้ย) แค่เพียงหอมปากหอมคอ คือมีเส้นเรื่องและปูมหลังให้พอประมาณแหละแต่ไม่ได้เยอะขนาดที่จะทำให้เราอินเท่าใดนึก แม้กระทั่งฮิคารุที่เป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของอิโนริ กว่าจะมีฉากที่เล่าปูมหลังจริงๆ จังๆ ให้เรารู้สึกว่าเธอก็เป็น เด็กคนนึง ไม่ใช่อัจฉริยะสเกตน้ำแข็งผู้เย็นชาขึ้นมาบ้าง ก็เล่มสิบต้นๆ (ส่วนจุน..ยังรู้สึกว่าเป็นหลุมดำผู้ลึกลับ 5555) หวังว่าหลังจากนี้ไปจะเห็น Screen Time ของคนอื่นและปูให้ตัวละครสมทบตัวอื่นๆ แข็งแรงขึ้นมาใกล้เคียงกับอิโนริและสึกาสะบ้าง

medalist vol 3 vs vol 12. Inori growth
จากเจ้าจิ๋วตัวกะเปี๊ยกในเล่มแรกๆ ผ่านมาสิบเล่ม น้องโตขึ้นแร้วววว

ลานไอซ์สำโรงมีบทในการ์ตูน Medalist ซะด้วย !

ในช่วงเนื้อเรื่องล่าสุดของ Medalist ประมาณเล่ม 10 เป็นต้นไป เนื้อเรื่องเข้าสู่ภาค JGP อิโนริ จากต้นเรื่องที่อยู่รุ่น Novice ได้ขึ้นมารุ่น Junior แล้ว (ฮันแน่ มีไทม์สคิปจริงๆ ด้วยย) และต้องมาเก็บคะแนนในซีรีส์ Junior Grand Prix เพื่อไล่คู่แข่ง—ฮิคารุ โดยหนึ่งในประเทศที่น้องถูกคัดให้มาแข่งก็คือไทยนั่นเอง 55555 ซึ่งคนเขียนค้นข้อมูลมาดีเลย แกวาดลานสำโรง (ลานไอซ์มาตรฐานตามสมาคมสเกต ISU ที่ใช้จัดแข่งรายการไอซ์สเกต) หรือสนามบินสุวรรณภูมิได้ตรงปกสุด ตลกที่น้องตกใจสายฉีดก้นในห้องน้ำ สิ่งประดิษฐ์นี้คือสุดยอดภูมิปัญญาแสนจีเนียสของชาวไทย 55555 หรือจะอเมซิ่งความมีอาหารให้ซื้อข้างทางบ้านเรา มีเขียนทั้งเรื่องที่ลงไปกินข้าวตรง Food Court ในห้างก่อนจะขึ้นบันไดเลื่อนมาชั้นโรงหนังที่มีลานไอซ์ (เป๊ะจริง) ซึ่งระยะเวลาที่เนื้อเรื่องภาคนี้เริ่มตีพิมพ์คือตอนต้นปี 2024 กับเวลาที่งาน JGP Bangkok 2023 จัด ก็เว้นช่วงยังไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ถือว่าคนเขียนแกอัปเดตสุดๆ 55555 แถมบังเอิญว่าเราเองก็เคยไปดูรายการนี้ที่สนามเหมือนกัน (คลิกเพื่ออ่านบทความตอนไปดูรายการ JGP 2023| รอบ 2024)

medalist vol 11
ปก Medalist เล่ม 11 ที่เนื้อเรื่องกำลังเข้าภาครายการ
Junior Grand Prix ในไทย

ประกาศทำอนิเมะแล้ว ! รายชื่อสตาฟต่างๆ

เคยคิดเล่นๆ ตอนที่ยังไม่มีข่าวประกาศอนิเมะว่าวัตถุดิบเรื่องนี้มันดีขนาดที่ถ้าค่ายไหนหยิบไปทำดีๆ ไม่แกง ผลงานก็สามารถเทียบชั้นเป็น Anime of the Season เลยก็ได้ (หรืออาจจะติด Top 10 ในกลุ่ม Anime of the Year ปีนั้นๆ)

ต่อมา เมื่อพ.ค. 2023 Medalist ประกาศสร้างอนิเมโดยสตูดิโอ ENGI ถ้าพิจารณาผลงานของ ENGI ในอดีต เรามองว่าออกมาในระดับกลางๆ ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่หากเทียบกับคุณภาพมังงะ แถมผลงานสตูดิโอเมื่อไม่นานมานี้ดันไปสับต้นฉบับ Unnamed Memory ซะคนอ่าน LN น้ำตาไหล เพราะเล่นหยุมเนื้อเรื่องนิยายสามเล่มซึ่งก็คือครึ่งทางของต้นฉบับให้จบในสิบสองตอน จนคนดูงงไม่พอว่าทำไมรีบ หลังจากนั้นก็ประกาศซีซันต่อ แฟนนิยายถึงกับไปไม่เป็น วางโครงเรื่องแต่ละตอนยังไงกันนี่😅

jukki hanada and yuki hayashi as  medalist staff
ทีมงานผู้คุมบทและทำดนตรีประกอบ
ที่มารูป 1,2

พอจะมีจุดที่น่าสนใจให้ใจชื้นขึ้นมาบ้างอย่างคนคุมบท Jukki Hanada ผู้ซึ่งช่วงกลางปี 2024 ก็ทำแฟนๆ Hibike Euphonium! 3 ถึงกับอีโม ปวดหัวใจไปตามๆ กัน เพราะแกขยี้ฉากอารมณ์ได้ถึงจิตถึงใจ ดังนั้นในส่วนของบทคงไม่น่าห่วง

เรื่องของดนตรีก็สบายใจได้ เพราะนักประพันธุ์เพลงเจนสนามอย่าง Yuki Hayashi เป็นคนทำดนตรีให้ แกเคยมาเป็นแขกรับเชิญคอนเสิร์ตออเคสตร้าที่มหิดลงาน Anime Symphonic 2023 ด้วยปีนั้นเป็นธีมทำเพลงเมดเลย์รวมมิตรเพลงอนิเม ซึ่งเราไม่ได้ไปปีนั้นแต่ไปปี 2024 แทนซึ่งเป็นปีที่ตีโจทย์เพลงอนิเมหุ่นยนต์ เคยเขียนรีวิวไว้อีกโพส) ผลงานเด่นๆ ของฮายาชิเช่น My Hero Academia, Haikyuu แต่ไบแอสส่วนตัวเรา ขออวยให้ตอนที่แกไปทำ Ballroom e youkoso เช่นเพลง Tatara Syuchu หรือMattaritosita Nichijyou และอีกเรื่องอย่าง Death Parade โดยเพลงที่เป็นอันดับหนึ่งในใจของเราคือ Moonlit Night ที่มาเป็นโซโลเปียโนกินใจ ถ้าใครดู Death Parade จบแล้ว น่าจะกรีดร้องฉากนึงที่ใช้เพลงนี้บรรเลงไปตามๆ กัน (และคงจะรีเลทบทความรีวิวของเราวันนี้อยู่ไม่น้อย) เพราะ…

คลิกเพื่อดูสปอย Death Parade (ใครยังไม่ดูแต่อยากกด ถือว่าเตือนละนาา 5555)

เพลงนี้บรรเลงอยู่ในฉากสเกตน้ำแข็งฉากหนึ่ง ในอนิเมเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับสเกตน้ำแข็งใดๆ เป็นซีนอีโม 3 นาทีจุกคอโดยไม่ต้องอาศัยบทพูด แค่อาศัยภาพและเพลงเล่าเรื่องก็เอาอยู่หมัด (เพลงจริงยาว 4 นาทีแต่การ์ตูนตัดใช้เพียง 3 นาทีตามจังหวะเนื้อเรื่องในขณะนั้น)

ตอนนี้ได้แต่ภาวนาว่าค่ายอนิเมจะไม่แกงมังงะจนเสียของ แม้จะยังไม่ตั้งความคาดหวังไว้สูงมากนัก แต่ก็คาดหวังอยู่ลึกๆ ว่าเราจะคาดการณ์ผิด เพราะดูจากที่มีงานอีเวนท์ให้ไปดูตอนแรกในโรงหนังรอบปฐมทัศน์เอย ความทุ่ม PR มีนักสเกตญี่ปุ่นส่งข้อความมาให้การสนับสนุนเอย รึ Kenshi Yonezu ที่ติดต่อมาหาทีมงานเพราะอยากร้องเพลงประกอบให้เนื่องจากเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ … ก็ลุ้นว่าอยากจะให้มันออกมาปังจริง ๆ นา

ส่วนสตรีมมิ่งที่ฉายในบ้านเราคือทาง Disney +

ไว้ถ้าอนิเมออกจนจบแล้ว จะมารีวิวตัวอนิเมอีกทีทีเดียวแล้วกันนะ

PV แรกของอนิเม Medalist

LC ฉบับไทยโดยสำนักพิมพ์ SIC

📌 ค่าย Siam Inter Comics ประกาศ LC เรียบร้อยแล้ว ในชื่อไทย “Medalist ทอฝันบนลานสเกต” ราคาอยู่ที่ 95.- ถือว่าราคาเบากระเป๋ากว่าเล่มอังกฤษ มีทั้งแบบเล่ม [Shopee] และ ebook [บน meb]

📌 LC ฉบับภาษาอังกฤษ [มีบน Google Book, Amazon Kindle, Apple Book ฯลฯ] ตกเล่มละ 230~240฿ 🥶🥶🥶 (เหมือนจะเป็นราคาเฉลี่ยปกติของมังงะ LC ภาษาอังกฤษเพราะตอนเราไปดูของ Kageki Shoujo ที่เคยรีวิวไว้ อันนั้นเล่มละ 300-400.- 55555) ก่อนหน้านี้ Medalist ฉบับอิ๊งมีขายแต่แบบ ebook แต่พอเข้าปี 2024 มีแบบเล่มตีพิมพ์ออกมาแล้ว

ในตอนนี้มีการตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยๆ ที่ญี่ปุ่นขายได้มากกว่า 350k เล่ม แถมมีแปลไปเป็นภาษาเกาหลี อิตาลี และอื่นๆ แถมกวาดรางวัลมาหลายรายการแล้ว การันตีชื่อชั้นเขาล่ะ

รีวิวฉบับแปลไทย (เล่ม 1-5)

หมายเหตุ: รีวิวนี้เป็นการอ่านจากฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ของเล่ม 1-5

1. จุดพิมพ์ตก/เบิ้ล, การถอดเสียงทับศัพท์

จากที่อ่านฉบับภาษาไทยมาห้าเล่ม พบคุณภาพการแปลมีปัญหาที่ค่ายนี้มักจะมีในช่วงหลังๆ และคิดว่าถ้าในเล่มถัดๆไป สามารถแก้ไขได้จะเป็นการดี นั่นคือสำนวนการแปลที่แข็งไปหน่อย อ่านแล้วยังไม่ไหลลื่น ต้องอ่านทวนซ้ำเพื่อทำความเข้าใจอีกที ประกอบกับมีการคำแปลสลับช่อง พิมพ์ตก พิมพ์เบิ้ล ตามจุดต่างๆ

ในส่วนของการถอดคำภาษาอังกฤษไม่ตรง พอเข้าใจได้เนื่องจากการถอดคำภาษาอังกฤษไปญี่ปุ่นจะมีการเพี้ยนจากเสียงเดิมเนื่องจากเสียงญี่ปุ่นเค้ามีไม่ครบ จึงอาจทำให้เวลาแปลไทยมาอีกรอบอาจเพี้ยนตาม กรณีนี้คือจากคำที่ถูกต้อง ฟลายอิ้งซิทสปิน (Flying Sit Spin) กลายเป็น ฟลายอิ้งช็อตสปิน (Flying Shot Spin) ถ้าได้ตีพิมพ์รอบสองก็อยากให้แก้จุดนี้ล่ะนะ ส่วนกรณีใกล้เคียงกันในเรื่องอื่นของสำนักพิมพ์นี้ก็เห็นจะมีการถอดเสียง Black Magician Girl (แบล็คเมจิเชียนเกิร์ล) ใน Yu-Gi-Oh! ที่ถอดเสียงออกมาตงฉินเลยว่า แบล็คเมจิเชียนกาลู 😅 แต่เห็นว่า Yu-Gi-Oh! ฉบับลง meb แก้ไขคำนี้แล้วน่ะนะ

2. การเกลารูปสำนวนประโยค

เรารู้สึกว่าแนวทางการแปลของหนังสือเรื่องนี้ จะเป็นการถอดภาษาต้นฉบับมาให้เที่ยงตรงที่สุด ชนิดคำต่อคำ นั่นทำให้หลายๆ ครั้ง เมื่อคนไทยอ่านแล้วจะค่อนข้างสับสนความหมายของมันในครั้งแรก ทำให้ต้องหยุดอ่านเพื่อทำความเข้าใจประโยคนั้นๆ ใหม่ และมีบางช่องที่ถ้าหากใช้คำอื่นแทน จะช่วยทำให้อ่านแล้วดูธรรมชาติเข้าปากคนไทยยิ่งขึ้น (ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าอาจจะเป็นทางต้นสังกัดด้วยรึเปล่าที่กำชับบังคับเก็บทุกคำคล้ายกรณีแปลเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย BNK48 ซึ่งเคสหลัง เขาแชร์ว่าต้องขอปรับบางท่อนเหมือนกันเพราะถ้าแปลเป๊ะทั้งหมดจะงง)

จากที่เล่าในหัวข้อบนๆ ว่าเทคนิค Figure Skating เรื่องนี้ใส่มาให้แบบจัดหนักจัดเต็ม เป็นมิตรกับผู้ที่ไม่เคยตามดูกีฬานี้เป็นอย่างดี เพราะเล่าตั้งแต่เบสิกทั้งหมด มัดรวมสิ่งที่ควรรู้มาให้ในการ์ตูนจนไม่ต้องไปหาอ่านตามเน็ต อารมณ์เดียวกับที่การ์ตูน Eyeshield 21 ปูพื้นฐานให้คนอ่านสามารถเข้าใจอเมริกันฟุตบอลในเบื้องต้นเพื่อไปเริ่มดู NFL แล้วไม่มึน

พอเนื้อหาภาคเทคนิคสเกตมันเยอะ ความซับซ้อนของบทพูดก็เยอะตามไปด้วย หลายๆ ประโยคที่แปล หากสามารถเรียบเรียงให้อยู่ในรูปที่อ่านได้ธรรมชาติและเข้าใจง่ายกว่านี้ได้ก็จะทำให้คนอ่านอ่านได้สนุกขึ้น ไม่สะดุด ตัวอย่างเช่น

ฉบับไทย:

“ครึ่งหลัง แรงกายและแรงสมาธิลดลงทำให้พลาดเพิ่มขึ้นครับ การตรวจสอบความผันผวนของอัตราสำเร็จของท่าก็เป็นกลยุทธ์สำคัญครับ”

หากเกลาเป็น

“พละกำลังและสมาธิของนักกีฬาจะลดลงในครึ่งหลังทำให้สเกตพลาดง่ายขึ้น ดังนั้นการประเมินว่านักกีฬาจะกระโดดท่านั้นๆ สำเร็จในครึ่งหลังมั้ยจึงเป็นเรื่องสำคัญครับ”

ก็จะอ่านลื่นขึ้น

ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้นฉบับญี่ปุ่นมีรูปสำนวนยังไง เป็นไปได้ว่าผู้แปลอาจจะแปลโดยรักษาไวยากรณ์และคงคำศัพท์เดิมของต้นฉบับเอาไว้ ตามที่เล่าไว้ด้านบน (เช่น ความผันผวน,อัตราสำเร็จ) จึงทำให้รูปประโยคที่แปลออกมาไม่ใช่ไวยากรณ์แบบไทยๆ และทำให้อ่านยากไปโดยปริยาย

3. คำที่เลือกใช้ในบริบท

ในบางช่อง เราพบว่ามีคำแปลที่อ่านแล้วรู้สึกๆ แปลกอยู่บ้างเช่น “ดำรงตำแหน่ง”

ในตัวอย่างนี้ตัวละครอีกตัวกำลังทักสึคาสะว่า “เพราะการที่เค้าเป็นนักกีฬาประเภทไอซ์แดนซ์ (คนละอย่างกับประเภทเดี่ยว) จึงทำให้เค้ามีสายตาแหลมคมและสามารถมองหาจุดผิดสังเกตของนักสเกตที่คนอื่นไม่ทันเห็นได้” ตัวละครจึงบอกสึกาสะว่า ก็ได้ความสามารถนั้นช่วยไว้สมัยยังแข่งไอซ์แดนซ์ไม่ใช่เหรอครับ?

ในกรณีนี้ถ้าดำรงตำแหน่งพูดถึง ตำแหน่งอย่างประธานสมาคม หรือ การป้องกันแชมป์กี่สมัยๆ ก็ดูพอจะเข้าทีอยู่บ้าง ซึ่งคิดว่าน่าจะแปลจากคำศัพท์ญี่ปุ่นที่อาจจะมีความหมายคล้าย ๆ กับ Tenure, Terms ในอังกฤษที่แปลประมาณว่า วาระ แต่ฝั่งนู้นอาจจะใช้คำๆ นี้ในหลายบริบทได้ แต่พอของเราหยิบมาใส่ในบริบทนี้แบบตรงไปตรงมาเลยจึงดูไม่เข้าพวก

ในอีกตัวอย่างมี ดำรงตำแหน่ง เช่นกัน

ฉบับไทย: การแสดงของเด็กคนนี้ทำเอานึกถึงครูโซนิโดริสมัยดำรงตำแหน่งเลยนะ
หากเกลาเป็น การแสดงของเด็กคนนี้ทำเอานึกถึงครูโซนิโดริสมัยยังแข่งอยู่เลยนะ ก็จะดูธรรมชาติขึ้น

4. การเลือกคำสรรพนาม

ตัวมังงะแปลออกมาได้ตรงตามความหมายล่ะ แต่เหมือนประโยคเหล่านั้นยังไม่ได้ผ่านการสวมหมวกตัวละคร เลยทำให้พออ่านแล้วมันหลุดคาแรคเตอร์ไปหน่อย ตัวอย่างเช่น กรณีด้านล่างที่น้องโยพูดกับคุณพ่อที่พาลูกมาดูสเกตแต่น้องไม่เข้าใจกติกาฟิกเกอร์สเกตเลยอารมณ์บูด

ในช่องคำพูดมีการพูดคุณพ่อ หรือใช้คำว่า อะ ซึ่งทำให้ชวนน่าเอ็นดูแต่เมื่อแทนบุคคลที่หนึ่งด้วย ฉัน ในการพูดกับคุณพ่อเลยดูเป็นคนห่างเหินไป 😅

หากเกลาเป็น

ถ้าไม่เข้าใจกฎการแข่งมันก็น่าเบื่ออะ/ก็น่าเบื่อนี่คะ หนูไม่มีเซนส์ในการดูคนเต้นแล้วรู้สึกประทับใจเหมือนคุณพ่อนี่นา

ก็จะดูใกล้ชิดมากขึ้น

ทั้งนี้ ด้านบนเป็นการรีวิวจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 แบบเล่มกระดาษเฉพาะเล่มที่ 1-5 แต่จากที่ลองไปอ่าน ebook เล่มที่ 9 บน meb ในภาพรวม ภาษาอ่านง่ายขึ้น การเรียบเรียงบทสนทนา/การใช้สรรพนาม มีการเลือกคำให้เป็นธรรมชาติเข้ากับตัวละครที่พูดมากขึ้น (อาจจะมีพิมพ์ตกหล่นอยู่บ้างเล็กน้อย) ซึ่งไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเล่มแรกๆ จะได้รับการแก้ไขในแอป meb ไปแล้วหรือไม่

ส่วนที่เหลือ คุณภาพหนังสือ การพิมพ์ เนื้อกระดาษเนียนเรียบดี เอาเล่มมาวางเรียงกันแล้วสวยเลย ตารางการวางแผงก็ค่อนข้างไว เหลือเพียงปรับให้สำนวนอ่านสบายขึ้นและลดจุดพิมพ์ตก,พิมพ์เบิ้ล สลับช่องต่างๆ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

🐝 รีวิว นิยายไตรภาค Leviathan องค์ชายกับเจ้าฮะ ณ สงครามโลกยุคสตรีมพังค์ | อนิเมชั่นฉาย Netflix 2025 นี้

คัมแบ็คอีกครั้งกับรายการแข่งสเกต ISU Junior Grand Prix Bangkok 2024 (JGP 2024) พร้อมประสบการณ์ที่มากกว่าเดิม ! 🐘

ประสบการณ์ไปดูงานแข่งไอซ์สเกต ISU Junior Grand Prix Bangkok 2023 รายการสเกตซีรีส์กรังปรีซ์ครั้งแรกในไทย 🇹🇭

รีวิว Ice Castles (2010) รีเมคหนังคลาสสิกไอซ์สเกตจากผู้กำกับเดิมที่ก้าวข้ามต้นฉบับไม่ได้

🎵 9 (2+7) เพลง อนิเมะที่ดนตรีแปลกในวงการ Anisong แถมติดหูอีกต่างหาก

🎵 รวม 40 OST เพลงเกมส์ Fire Emblem โปรดน่าฟังเกือบทุกภาค !

🔑 ติดตามรีวิวอนิเมะอื่นๆ ได้ใน https://gleegmjournal.com/category/pop-culture/anime/

⛸ บล็อกหัวข้อ Figure Skating ทั่วไป https://gleegmjournal.com/category/sport/figure-skating-all/

🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 📺 รีวิว Anime อนิเมะ | 🪝 รวมมิตรรีวิวทุกประเภท All Reviews

🔑 Find me in: Anilist | MyAnimeList | About Me

Loading

GleeGMJournal

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...