มาแยกท่า Jump ใน Figure Skating กันเถอะ ฉบับเทคนิคน้อย [Figure Skating 101 สำหรับคนดู ตอนที่ 1]
กีฬา Figure Skating ฟิกเกอร์สเก็ต หรือชื่อไทยสเก็ตลีลา องค์ประกอบหลักที่พบในการแข่งมีทั้งลีลาการหมุนตัว (Spin) สเต็ปการสเก็ต (Step Sequence) และองค์ประกอบชูโรงที่ขาดไม่ได้เลยอย่างการกระโดด (Jump)
Jump นั้นมีหลากหลายรูปแบบและอาจเป็นเรื่องที่ทำให้คนดูหลาย ๆ คนยังแยกไม่ออกทั้งหมดว่าแต่ละท่ามันเรียกว่าอะไรบ้าง บทความนี้จะพามารู้จักและแยกท่า Jump ใน Figure Skating กัน !
ตามทฤษฎีแต่ละท่าจะมีนิยามของมันอยู่ว่าต้องปฏิบัติแบบไหนจึงจะเป็นท่าอะไร เช่น “ต้องใช้ปลายเท้าซ้ายกระทุ้งพื้นก่อนกระโดด” (สาธิตการกระทุ้งเท้า) วิธีการการดูขาเหล่านี้จะอิงกับนักสเก็ตส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่เค้าจะถนัดเท้าขวาและหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา (เราลองยืนกอดอกแล้วหมุนรอบตัวไปซ้ายมือ ทิศนั้นแหละ) ถ้านักสเก็ตคนนั้นถนัดซ้าย (เช่น Ashley Wagner) เค้าจะหมุนสลับด้านและใช้ขาสลับกับตำราทำให้คนดูต้องสังเกตเพิ่ม
แต่บทความตัวนี้เราจะมาอธิบายวิธีการแยกท่ากระโดดแบบคร่าว ๆ สไตล์ไม่เน้นเทคนิคเยอะ เน้นหลักการสังเกตเอามากกว่าเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ใช้ได้กับทั้งนักสเก็ตหมุนตามเข็มและทวนเข็ม ผู้เขียนเคยลองแยกโดยใช้เทคนิคตามตำราละ แต่ดูจะไม่ใช่ทาง งงอยู่ดี 5555
หมายเหตุ วิธีการแยกนี้เป็นเทคนิคส่วนตัว ที่อาจช่วยจำแนกประเภทการ Jump ได้คร่าว ๆ ราวๆ 70-80% พอเป็นแนวทางให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้นจนไปแยกท่าหรือต่อยอดเป็นแนวทางสังเกตของตัวเองในอนาคตได้ ซึ่งมันอาจมีจังหวะที่ไม่เวิร์คเสียทุกครั้งไปเพราะมีบางจังหวะที่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก 5555 และลักษณะของท่าในการสังเกตดันมีความคล้ายคลึงกัน (จะกล่าวถึงในข้อ 6)
⭐ บทความนี้เป็นตอนแรกของซีรีส์ Basic Figure Skating For คนดู 101 ⭐ (ซีรีส์นี้มี 2 ตอน)
สารบัญ
คำศัพท์สเก็ตน่ารู้ โตไปไม่ลืม ..(มั้ง)
ตามที่เกริ่นไปว่าเราจะเน้นเทคนิคน้อยแต่คงต้องเกริ่น Terms คำศัพท์ที่ใช้บ่อย ๆ ในวงการนี้กันสักเล็กน้อยเนื่องจากเทคนิคยังคงเป็นส่วนสำคัญ เราจะพยายามเล่าให้ไม่มึนกันไปก่อนแล้วกัน
1. Entry เอนทรี่นี้ก็คือการที่นักกีฬาตั้งท่าเตรียมตัวเพื่อที่จะทำการกระโดดกอดหมุนตัวซึ่งบางท่ากระโดดสามารถบอกได้จากเอนทรี่เลย เช่นท่านี้เข้า Entry โดยหันหน้า อีกท่าเข้า Entry จากการหันหลังโดยวิธีการแยกของเราก็คือจะดู Entry เอานี่ล่ะ
2. Inside Edge / Outside Edge เป็นคำที่เจอบ่อยๆ ในคลิปแยกสเก็ต มันคือหันมุมคมมีดรองเท้าเอนไปด้านไหนนั่นเอง Inside Edge คือด้านที่อยู่ฝั่งนิ้วโป้งเท้า ส่วน Outside Edge คือด้านที่อยู่ฝั่งนิ้วก้อยเท้า อธิบายอีกแบบก็คือ Inside คือฝั่งติดกับปอดและ Outside คือฝั่งนอกปอด 5555
ตัวอย่าง เมื่อคนพูดว่า “Left Inside Edge ในการกระโดด” แปลว่านักสเก็ตต้องใช้ขาซ้ายและเอียงองศาตัวเข้าไปด้านฝั่งนิ้วโป้งเท้าเพื่อทำการกระโดด
ประเภทของ Jump ใน Figure Skating
Jump ที่พบเจอในการแข่งประเภทเดี่ยวมีทั้งหมด 6 ประเภทด้วยกัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
1. Edge Jump การกระโดดที่ไม่ได้ใช้เท้าช่วยกระทุ้ง ลอยตัวขึ้นไปเลย ได้แก่ Axel, Salchow, Loop
2. Toe Jump การกระโดดโดยมีเท้าหลังช่วยกระทุ้งจิกพื้นน้ำแข็งก่อนลอยตัวขึ้นไป
ได้แก่ Flip, Lutz, Toe Loop (วิธีดูของเราตัวนี้จะแม่นน้อยลงกับท่าประเภท Toe Jump ถ้าใช้การสังเกตข้างของขานักสเก็ตเข้ามาร่วมด้วยจะแม่นยำกว่า) ไปเริ่มกันที่ท่าแรกดีกว่า
1. Axel (ตัวย่อ A)
ท่าตีเข่าเหินเวหา เอ็กเซลที่มาจากชื่อคนคิดค้น Axel Paulsen ไม่ได้หมายถึงโปรแกรมคอมช่องตารางแถบสีเขียวๆ แต่อย่างใด (นั่นมัน Excel !) ตัวย่อที่ใช้ของท่านี้คือ (A) เมื่อไหร่เราเจอใบคะแนนพิมพ์ว่า 2A, 3A เขาหมายถึง Double Axel (หมุน Axel สองครั้ง), Triple Axel ตามลำดับล่ะ
วิธีสังเกตของท่านี้ง่ายที่สุดในบรรดา 6 ท่า เพราะท่า Axel นั้นสามารถดูได้ที่ Entry ได้เลยเพราะเป็นวิธีเดียวที่ใช้ Entry แบบหันหน้าเข้า จุดสังเกตคือเวลาที่สเก็ตกระโดดเค้าจะตั้งท่าเหมือนจะไปตีเข่าใครสักคนยังกะกำลังดูตัวละครเกมส์ตู้ Arcade อัดท่าสักอย่างเลย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของท่า Axel คือมันเป็นท่าที่ยากกว่าตระกูลอื่น ๆ เนื่องจาก โดยทั่วไป 1 รอบของการกระโดดก็คือหมุน 1 รอบแต่สำหรับ Axel เราต้องหมุนเพิ่มอีกครึ่งรอบกล่าวคือเราต้องหมุนหนึ่งรอบครึ่ง ทางกติกาจึงจะนับว่าเป็น 1 รอบ ฉะนั้นมันจึงมีความยากกว่าชาวบ้านเพราะมันมีรอบครึ่งที่เพิ่มเข้ามา
2. Salchow (S)
ตั้งแต่นี้ไป Entry ของการกระโดดจะหันหลังเข้าหมดแล้ว วิธีสังเกต Salchow มีดังนี้
- Entry ของนักสเก็ตจะต้องมีการหันหลังงอเข่าย่อตัวลงเหมือนเตรียมสควอทก่อนจะกระโดดลอยตัวขึ้นไป
- (ข้อนี้เป็น Optional) โดยจังหวะช่วงลอยตัวจากพื้น ขานักสเก็ตจะกรีดพื้นไปเต็ม ๆ เราจะเห็นคลื่นน้ำแข็งโผล่ขึ้นมาให้อารมณ์เหมือนบาเรียน้ำแข็งรายล้อมตัว เป็นท่าที่ใครทำก็เห็นชัด 55555 ถ้าเราเห็นใครย่อขาเตรียม Squat ลมแล้วและจังหวัดกระโดดมีปราณน้ำแข็งปรากฏขึ้นมาก็นั่นแหละ Salchow ส่วนตัวเป็นท่าที่เราชอบที่สุดเพราะมันมีปราณน้ำแข็งโผล่ขึ้นมาเนี่ยล่ะ 55555
ที่บอกว่าข้อ 2 เป็น optional เพราะท่าอื่นที่นักสเก็ตพลิกแพลง Entry เพิ่มก็จะมีคลื่นน้ำแข็งเพิ่มขึ้นมาเหมือนกัน แต่พบเห็นไม่บ่อยนัก เช่น Loop ที่โดยทั่วไปเราจะไม่เห็นคลื่นออกมาแต่นักสเก็ตบางรายมีการใช้ Entry ซับซ้อนหมุน เช่น 360° หลายรอบก่อนจะกระโดด Loop จึงทำให้มีคลื่นน้ำแข็งแซมขึ้นมาด้วย
3. Loop (Lp)
ท่านี้วิธีสังเกตใกล้เคียงกับ Salchow เปลี่ยนจากการสควอทลมและบาเรียน้ำแข็งเป็นการไขว้ขากากบากก่อนที่เค้าจะกระโดด ซึ่งบางครั้งจังหวะการไขว้ขาจะไม่ชัดบ้าง จะเป็นการไขว้ขวาเบาๆ แต่มันจะมีการซ้อนเท้าสองข้างเป็นเส้นตรงเหมือนกำลังเดินอยู่บนเส้นด้าย
4. Flip (F)
เข้าสู่ช่วงท่ายากขึ้น มีจุดสังเกตสองจุด
1.จังหวะกำลังกระโดด นักสเก็ตจะพลิกตัวชึ้บชั้บ
2. มีเท้าขวาช่วยกระทุ้ง (ในรูปที่ 2)
โดยส่วนมากเราจำแค่มีจังหวะพลิกตัวก่อนกระโดดแค่นั้นพอ
5. Lutz (Lz)
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ท่านี้นักพากย์ฝั่งตะวันตกออกเสียงว่า ลัตซ์ แต่นักพากย์ญี่ปุ่นออกเสียงว่า ลุตซึ(ลุตซ์) ซึ่งตามเสียงเยอรมันออกเสียงว่า ลุตซ์ ตามนามสกุลนักสเกตชาวออสเตรียผู้คิดค้นท่านี้ Alois Lutz
วิธีสังเกตของท่านี้คือ
- Entry มีการโย้ตัวเอียงมาข้างหน้าเป็นตัว T เฉียง ๆ แบบชัดเจน
- ก่อนใช้เท้า(ขวา)กระทุ้งลอยตัวขึ้นไป
6. Toe Loop (T)
ท่านี้นักสเก็ตบอกโดดง่ายสุดแต่แยกยากที่สุดสำหรับเรา 555 เพราะเป็นหนึ่งในท่ากระทุ้งที่ใกล้เคียงกับ Lutz สิ่งที่ต่างตามตำราสูตรหมุนทวนเข็มคือ Lutz(และ Flip) ใช้เท้าขวากระทุ้ง แต่ Toe Loop ใช้เท้าซ้ายกระทุ้ง ซึ่งเอาจริงเราดูไม่ทันหรอก 555 ถ้าจะเอาแม่นยำมากขึ้นควรอาศัยการดูขาข้างที่กระทุ้งประกอบ เพราะในหลาย ๆ จังหวะ การดู Entry อย่างการพลิกตัวในจำพวกท่า Toe Jump จะทำให้หลุดได้บ่อยๆ
⚠ ตัวอย่างการแยกยาก (1) ↑
ตัวอย่างการแยกยากที่ทริคสังเกต Toe Loop ของเราอาจไม่รอด เช่น GIF ด้านบนนี้ อย่างจังหวะนี้ Nathan โดด 4T จังหวะเท้าซ้ายกระทุ้งเกิดขึ้นไวมาก ถ้าไม่สังเกตปลายเท้าดี ๆ ก็จะเผลอนึกว่า Salchow ซึ่งความจริง Nathan มีการกระทุ้งเท้าซ้ายอยู่ด้วยอันเป็นสัญญาณของ Toe Loop
⚠ ตัวอย่างการแยกยาก (2) ↑
ตัวอย่างนี้ก็เช่นกัน มองเผินๆ จะนึกว่า Flip แต่เนื่องจากมีการกระทุ้งเท้าซ้ายขึ้นมาเช่นกัน มันจึงเป็น Toe Loop เช่นกัน
ท่ากระโดดคอมโบ สองจัมพ์ใน 1 เซ็ต
ในการกระโดดเซ็ตนึง นักสเก็ตสามารถใส่คอมโบสองท่าไปในการกระโดดได้ ท่าที่สองที่คนใส่ได้คือ Loop หรือ Toe Loop ดังนั้นถ้าเห็นเค้ากระโดดท่าคอมโบที่สองและมีการกระทุ้งเท้าช่วยนั่นคือ Toe Loop ล่ะ อย่างเช่น GIF ตัวอย่างการแยกยากที่สอง(เสื้อเขียวเข้ม) เขากระโดด 4T + 2T ส่วนตัวอย่างที่ 1 (เสื้อเหลือง)เป็น 4T + 1Euler + 3S. เมื่อมีการใส่ Euler คั่นกลาง (พลิกตัว 1 รอบ) ก็จะเหมือนการ reset ทำให้สามารถกระโดดท่าอื่นนอกเหนือจาก Toe Loop, Loop ได้
ตารางสรุปทั้ง 6 ท่า
หลังจากที่กล่าวมาครบ 6 ท่าแล้ว เราขอสรุปเป็นตารางเพื่อให้ดูง่าย ๆ ดังนี้
โดยอิงหลักการจากนักสเก็ตส่วนใหญ่ (หมุนทวนเข็ม)
ท่ากระโดด | Entry ที่เข้า | ประเภทการกระโดด | ทริคการจำ |
Axel | ด้านหน้า | Edge | ตีเข่าเหินฟ้า |
Salchow | ด้านหลัง | Edge | 1.นั่งย่อ Squat ลมก่อนกระโดด 2.เห็นคลื่นน้ำแข็งช่วงกระโดด (Optional) |
Loop | ด้านหลัง | Edge | ไขว้ขาเป็นกากบากก่อนกระโดด |
Flip | ด้านหลัง | Toe | 1.มีการพลิกตัวหนึ่งสองตลบก่อนกระโดด 2.เท้าขวากระทุ้ง (ถ้าขี้เกียจจำเท้าข้างไหน ให้สังเกตข้อ 1 พอ แต่ความแม่นยำจะลดลง) |
Lutz | ด้านหลัง | Toe | 1.โย้ตัวเป็น T เฉียงก่อนกระโดด 2.เท้าขวากระทุ้ง (ถ้าขี้เกียจจำเท้าข้างไหน ให้สังเกตข้อ 1 พอ แต่ความแม่นยำจะลดลง) |
Toe Jump | ด้านหลัง | Toe | เท้าซ้ายกระทุ้ง (ท่าเดียวที่ใช้เท้าซ้ายกระทุ้ง) |
Next Step รู้ทั้งหมดนี้แล้วทำไรต่อ ?
ทุกคนลองไปฝึกในภาคสนามจริงได้เลย หลัง ๆ รายการใหญ่ ๆ มักจะอัพผ่านช่อง Youtube ของ ISU เอง แล้วโดยส่วนมาก รายการในช่องนี้จะมีการใส่คะแนน Element และตัวท่าไว้หลังจากนักสเก็ตกระโดดท่านั้นเสร็จ เหมาะแก่การซ้อมภาคสนามอย่างยิ่งยวด
คลิปแนะนำการดูท่า Jump ใน Figure Skating เพิ่มเติม
เอาล่ะ หลังจากผ่านคอร์สเทอร์โบข้อความหนาเตอะกันไปแล้ว มาลองดูคลิปอธิบายตัวนี้เป็นของ Wall Street Journal ซึ่งเชิญ Jason Brown มาช่วยสาธิตให้ เป็นคลิปที่มีการลดความเร็ว การวงกลมเน้นจุดที่ต้องให้โฟกัสได้ดีทีเดียวเชียว 👍👍 คราวนี้ถ้าในคลิปมีการพูดถึงคำศัพท์ต่าง ๆ เราก็ไม่น่าจะงงกันแล้วล่ะ
จบไปแล้วกับวิธีการแยกท่ากระโดดฉบับเทคนิคน้อย เอ๊ะ นี่น้อยแล้วเหรอ… น่าจะช่วยคนอ่านให้แยกท่ากระโดดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเกิดว่าใครมีทิปหรือเทคนิคดีๆ ที่อาจช่วยแยกได้แบบไม่ต้องใช้เทคนิคมากแล้ว มาแชร์ๆ เพิ่มกันได้ที่
About Me นะง้าบ
ในแผนการเขียนบทความตอนถัดไปของซีรีส์ Basic Figure Skating 101 For คนดู เราจะพูดถึงวิธีการนับคะแนน + การอ่านใบคะแนนแบบพื้นฐาน, การคำนวณ GOE, อะไรคือ TES + PCS = TSS ? แล้วแจกันใน
ตอนที่ 2: มาอ่านใบคะแนนของ Figure Skating กันเถอะ
🍉 ตอนที่ 2: มาอ่าน ใบคะแนน ของ Figure Skating กันเถอะ ฉบับเลขน้อย (น้อยจริงๆ…เรอะ ?) คลิกเล้ยยย
🖊 Author: GleeGM
🔎 Peer Review: Riko Rikarin
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
⛸ Medalist มังงะฟิกเกอร์สเก็ตเรื่องล่าสุดแห่งปี 2020 รอคอยเซตติ้งแบบนี้มานานแล้ว !
🎬 ฉันที่เกือบอายุ 30 ในที่สุดก็เจอ “หนังในดวงใจ” กับ Ice Castles (1978) สักที
🛒 สั่งของ NBA Store บอกเล่าประสบการณ์แบบสั่งเองไม่ผ่านร้านหิ้วโดนไปกี่บาท?
🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 📺 รีวิว Anime อนิเมะ | 🪝 รวมมิตรรีวิวทุกประเภท All Reviews
References:
– skatesweden.se/en/figureskatingatoz/jumps-an-introduction/
– https://www.quora.com/When-watching-figure-skating-whats-the-easiest-way-to-tell-the-difference-between-a-lutz-toe-loop-salchow-and-an-axel