9 (2+7) เพลง อนิเมะที่ดนตรีแปลกในวงการ Anisong แถมติดหูอีกต่างหาก

พูดถึงเพลง อนิเมะ (ศัพท์เฉพาะคือ Anisong ย่อมาจาก Anime Song) ส่วนมากเราคงติดภาพเพลงเปิด Opening—OP เป็นแนวสไตล์มันส์ๆ ตื่นเต้นเร้าใจ กลองรัวๆ ส่วนเพลงปิด Ending—ED เป็นเพลงช้า ๆ สบาย ๆ คูลดาวน์ก่อนปิดจอ โดยทั่วไปแนวทางของ Anisong ไม่ได้หนีกันมาก เรียกได้ว่าแนวเพลง Anisong เองก็มีลายเซ็นในแบบของมันแต่วันนี้เราจะมาพูดถึงแนวเพลงที่นาน ๆ ทีจะเจอในอนิเมะ และมันฟังแล้วติดหูซะด้วยนี่สิ ส่วนตัวเราฟังแล้วก็ชอบด้วยอยากบอกต่อ ทั้งหมดมี 9 เพลง (2+7 สองที่มาจากกลุ่มควรพูดถึง และ 6 คือเพลงที่เราคัดเลือก) แล้วทำไมไม่หาอีกเพลงนึงมาให้ครบ 10 ไปเลยเล่า ! 555555

เกณฑ์การให้คะแนน ✨ (เพลงตัดรอบถึง ต.ค. 2021)
1. แนวเพลง, องค์ดนตรี การผสานงานเพลงและลำดับภาพแปลกใหม่หรือไม่ค่อยพบเห็นในวงการ Anisong
2. ชอบจนใส่ Favorite ให้ playlist เพื่อกลับมาฟังซ้ำ

Honorable Mention — กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ข้อ 1 แต่ไม่ผ่านข้อ 2 แต่ควรหยิบมาพูดถึง

กลุ่มนี้ประกอบด้วย 2 เพลงที่เรารู้สึกเฉย ๆ ฟังผ่านรอบเดียวไม่ได้เอามาใส่ Playlist แต่ฟังครั้งแรกก็ต้องเอะใจล่ะว่า เอ้อ มันแปลกดีนะ จึงควรหยิบมาเล่าสักหน่อย

1. My War [Attack on Titan — Final Season Part 1 OP]

Attack on Titan—Final Season OP1

พูดถึง Titan ทุกคนน่าจะชินกับเสียงดนตรีของวง Linked Horizon ฟังแล้วชวนฮึกเหิมเสียมากกว่า มีเข้า Final Season นี่แหละที่เพลงเปลี่ยนอารมณ์อย่างชัดเจน พร้อมการใช้งานภาพเล่าเรื่องที่ต่างจาก OP ตัวอื่นๆ ลักษณะการใส่สีเทาตัดกับงานภาพ 4 สี คล้าย ๆ งานแต่งภาพของแอป Color Splash ตัวเพลงมีความแปลกทั้งเรื่องในภาคดนตรี มีการสอดแทรกเสียงเครื่องเป่าและฉากระเบิดวินาศสันตะโร เนื้อเพลงที่ส่วนมากที่ท่อนภาษาอังกฤษและคำสร้อยที่เราจะได้ยินแต่

La-la-la-la
Ba-ba-ri-as-ras-ti-ti-ti-ras-ti-ti

เสมือนเป็นการท่องมนต์สักอย่างวนไปวนมา ส่วนตัวเราค่อนข้างเฉย ๆ กับเพลงนี้แต่ต้องยอมรับในความแปลกใหม่ที่ OP ไททันตัวนี้เลือกที่จะฉีกออกไปจากเพื่อน ๆ ในตระกูลเดียวกัน

2. Hana -a last flower [Aku no Hana ED]

Aku no Hana ED

เพลงแปลกของจริงแห่งปี 2013 55555 เข้าคอนเซปต์อนิเมะที่เนื้อเรื่องแปลกพอตัวและต้องใช้วิจารณญาณในการเสพพอสมควรเพราะตัวละครในเรื่องค่อนข้างมีความเทา ๆ ตัวเพลงทำได้เข้าธีมในการฟังแล้วชวนอึดอัด บางคนถึงกับทักว่า นี่มันเพลงเหรอฟระ 55555 เนื่องจากโครงสร้างแปลกมีความต่างจากเพลงชาวบ้านพอสมควร การเว้นช่องไฟที่ไม่เป็นจังหวะ ฟังแล้วแทบต้องกลั้นหายใจว่าเมื่อไหร่ถึงจะจบท่อน ๆ หนึ่ง ความรู้สึกที่เหมือนกำลังฟังบทสวด ยิ่งฟังเหมือนยิ่งถูกสะกดจิตให้ตกเข้าไปในภวังค์ ถ้าอยากหาความแปลก เพลงนี้ก็ควรนำมากล่าวถึงล่ะ



My Selection — เพลงที่เราคิดว่าแปลกและชอบเป็นการส่วนตัวด้วย

โอเค เข้าสู่ลิสต์ที่เราคัดสรรมาจริง ๆ เพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกจี๊ดจ๊าดจนอยากบอกต่อให้ทุกคนไปหาฟัง

3. Yume no Shima Shinen Kouen [Paranoia Agent Opening]

Paranoia Agent OP

ครั้งแรกที่ดูงานภาพ OP คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ คุณพี่มาหัวเราะทำไม ? 55555 กล่าวคือทั้งเพลงมีแต่ตัวละครหัวเราะไปเรื่อยๆ พร้อมกับงานเพลงสุดล้ำแสน Futuristic ราวกับมาจากดาวอังคารประพันธุ์โดยคุณลุง Susumu Hirasawa ถ้าใครฟังแล้วรู้สึกภาคดนตรีทำให้นึกถึงกลิ่นอายเพลง The Girl In Byakkoya ซึ่งเป็น Theme Song ของภาพยนตร์ Paprika ก็ไม่ต้องตกใจไปเพราะเป็นผลงานของลุง Susumu คนเดียวกันนั่นเองแถมยังเป็นโปรเจกต์ที่ผู้กำกับ Satoshi Kon ร่วมงานกับลุง Susumu กันมาก่อนจะไปเจอกันอีกรอบใน Paprika ด้วยแน่ะ

แม้ว่าตัวเพลงจะไม่ได้มีจังหวะที่รวดเร็ว upbeat แต่มิติในตัวเพลง การใช้เสียงเอื้อนหรือภาคดนตรี มันชวนให้ความรู้สึกอันน่าค้นหาจนอยากจะฟังต่อไปเรื่อย ๆ ว่าท่อนถัดไปลุง Susumu จะใส่ลูกเล่นอะไรเข้ามา เป็นอีกเพลงที่เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง

4. Hitomi no Tsubasa [Code Geass OP3]

Code Geass ภาคแรก OP3

ถึงคิวเพลงนี้ คนอ่านงงแน่ๆ เพลงนี้มันแปลกยังไงฟะ 55555 ดูยังไงมันก็เป็นเพลงแนว eurobeat/trance ที่เจอได้ทั่วไปสไตล์อนิเมะหุ่นยนต์นี่ฝ่า เพลงนี้อาจจะไม่ได้แปลกในเรื่องของงานดนตรีมาก แต่ทำนองและจังหวะของมันก็นำมา mix&match กับงานภาพ Opening (ที่กึ่งงานลวก) ได้เข้ากันดีจนเหลือเชื่อ 5555

เพลงนี้เป็นเพลงของวง Access ซึ่งเป็นเพลงที่ดนตรีแนวเพลง Trance อารมณ์เพลงอิเล็คโทรนิกส์ฮิต ๆ สมัยยุค 2000 น่ะ ตัวอย่างงานเพลง Trance ในเกมส์เต้นเหยียบลูกศร [Feeling Won’t Fade] เดิมที OP3 ตัวนี้ถูกใช้แค่ตอนที่ 24-25 ใน Season 1 ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ถูกใช้แค่ 2 ตอนเท่านั้น(เสียดายไงเฟ้ย !) และที่ว้าวกว่านั้นคืองาน OP ก็ดูจะลวก ๆ เหมือนทำไม่ทันน่ะแหละ ค่ายคงเลยแปะ ๆ อนิเมชั่นเหมือนสไลด์ Powerpoint ที่เอาตัวละครมาเรียงกันไปมาในแต่ละประโยคเพลง ทว่า ! จังหวะการเรียงตัวละครนี้ล่ะ ดันเข้ากับจังหวะเพลงเฉย !! เนื่องจากการลงท้ายในแต่ละประโยคของเพลงนี้จะมีการลงน้ำหนักเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นทำให้มันประจวบเหมาะไปกับจังหวะตัวละครสไลด์มาชิดซ้ายชิดขวาเสียนี่กระไร ! งานอนิเมชั่นงบน้อยที่ใส่ฉากรีไซเคิลเก่า ๆ จากในเรื่องมาผสม ๆ กันแต่มันดันออกมาเข้ากันอย่างน่าตกใจซะอย่างนั้น 5555555 ถ้าเราเอาเพลงอื่นมาตัดใส่ทำเป็น AMV เล่นๆ มันก็คงไม่เข้าเท่ากับเพลงนี้เหมือนกัน (เนื่องด้วยจังหวะของแต่ละท่อนที่เพลงนี้มีจังหวะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง) ยิ่งไปว่านั้นเมื่อเข้าท่อนฮุกปุ๊บ ตัวละครที่เป็นไฮไลท์ของเรื่องอย่างซุซาคุ ศูนย์กลางของเรื่อง ถูกจัดมาไว้ตรงกลางดีในขณะที่ก่อนหน้านี้ทุกคนจะอยู่ชิดขอบซ้ายขวา นั่นยิ่งแสดงถึงการใช้น้ำหนักของท่อนฮุคได้อย่างมีประสิทธิภาพ !

MV งานภาพเล่าง่าย ๆ ไม่ใช้เทคนิคซับซ้อน แต่ดันเข้ากับเพลงจนเพอร์เฟกต์ !

สุดท้ายนี้ได้แต่เสียดายในศักยภาพของเพลงนี้ที่ควรจะได้แอร์ไทม์มากกว่า 2 ตอน ไม่รู้เหมือนกันว่าเบื้องหลังไปเจออะไร วางแผนงานโปรดักชั่นผิดเหรอเลยทำให้เพลงนี้มีโควต้าแค่นี้

5. Zettai Reido θ Novatic [Macross Delta OP2]

เพลงอนิเมะดนตรี drum & bass เว้ยเฮ้ย !
(TV Size บน Youtube ปลิวไปแล้ว)

ข้างบนว่างานภาพเผาแล้วใช่มั้ย ?? เวลคัมทูงานเผาอีกหนึ่งชิ้น 55555 มาหรอบเดียวกันเลยจ้า ใช้งานภาพรีไซเคิลจากตอนเก่าๆ ไปสัก 90% สำหรับเพลงนี้เราคงไม่ได้อวยการลำดับงานภาพเหมือนเพลงบน แต่คืองานเพลงล้วน ๆ นั่นคือมันเป็นเพลงสไตล์ Drum and Bass (DnB)

สำหรับคนที่สงสัยว่างานเพลง Drum and Bass เป็นยังไง ลองดูตัวอย่างของช่อง majesticdnb ที่เป็นช่องที่อัปแต่เพลง Drum n Bass หรือเปิดเพลงข้างล่างนี้แล้วกอไปที่ 0:30 เราจะได้ยินเสียงกลองอิเล็คโทรนิกส์ที่เป็นภาคดนตรีไฮไลท์ของแนวเพลงประเภทนี้

ตัวอย่างเพลง Drum and Bass

สำหรับวงการ Anisong นั้นหาเพลง Drum and Bass ยากจริงๆ ยังไม่นับว่าเพลงในซีรีส์ Macross มันไม่เคยมีแนว DnB ซะด้วย Macross เป็นซีรีส์อนิเมะหุ่นยนต์คอนเซปต์ร้องเพลงผสมรักสามเส้า ภาคแรกออกฉายปี 1982 โดยแต่ละภาคจะรีเซ็ตเป็นตัวละครชุดใหม่แต่ยังคงคอนเซปต์หุ่นยนต์+ร้องเพลง+รักสามเส้าไว้เช่นเดิม แม้จะมีข่าวออกมาในภายหลังว่าผู้สร้าง— Shoji Kawamori ต้องการตัดหัวข้อรักสามเส้าออกจากภาค Delta ล่าสุดออกไป

Macross ในแต่ละภาคเว้นระยะการสร้างนานเหมือนรอให้ตกตะกอนดีก่อนว่าจะเขียนภาคถัดไปยังไงต่อ ส่วนตัวคิดว่าอาจจะอยากรอให้แนวเพลงเปลี่ยนยุคด้วยล่ะมั้งเพราะหากสังเกตกลิ่นอายของเพลง Macross ในแต่ละภาค จะมีกลิ่นอายที่แตกต่างกัน ในภาค SDF—1982 เป็นเพลงสไตล์ 80s ballad นักร้องใส่ชุดลูกไม้ร้องเพลง ภาค 7—1994 เป็นเพลงร็อค ภาค Frontier—2008 เป็นนักร้องสไตล์ดีว่าโชว์พลังเสียง(และเป็นภาคที่ได้รับความนิยมของกลุ่มคนดูรุ่นหลังมากที่สุดในคุณภาพของบทและงานเพลง) ภาค Delta—2016 ยุคแห่งยูนิตไอดอล

Official MV ของ Zettai Reido θ Novatic จากยูนิตเฉพาะกิจ Walkure

แน่นอนว่า DnB เป็นของแปลกสำหรับซีรีส์นี้ แม้ตัวเพลงเดี่ยว ๆ ของมันเองไม่ได้ขี้เหร่ ฟังสนุกแต่จุดอ่อนของมันคืออารมณ์โดยรวมของเพลงที่มันกลางมาก ๆ ต่างกับเพลง Macross ภาคอื่นๆ ที่ OP ค่อนข้างวอร์มอัปอารมณ์คนดูได้พอตัว (เช่น Lion, Seventh Moon) พอมาเจอเพลงอารมณ์กลาง ๆ นิ่งๆ อย่างตัวนี้เข้าไปแถมโดนงานภาพรีไซเคิลมาฉุดให้ดูแย่ลงไปอีกจึงทำให้ถูกมองว่าเป็นเพลง OP แสนอ่อนในตระกูล Macross (พูดเป็นภาษาบ้าน ๆ ก็คือตัวเพลงมีความ Album Track มากกว่าจะเป็น Lead Single) ยังไม่นับว่าคุณภาพในเนื้อเรื่องครึ่งหลังตั้งแต่เปลี่ยนเป็น OP ตัวนี้ก็ดิ่งเหวเช่นกัน จากปัญหาทีมบริหารที่เค้าว่ากันว่า Kawamori อยากทำแค่ 1-cour(13 ตอน) แต่สปอนเซอร์ต้องการให้ทำ 2-cour(26 ตอน) เป็นเหตุผลที่ครึ่งแรกทำออกมาได้สนุกเกินคาดแต่ครึ่งหลังช่างดูฝืนจนออกมาเละเทะทำเอาแฟน Macross ที่รอภาคต่อกันมา 10 ปีใจแป๊วกันไปพอสมควร



6. X-Encounter [Tokyo Ravens OP1]

Tokyo Ravens OP1

เพลงนี้เด่นมากในเรื่องจังหวะสุดจึ๊งและการเว้นช่องไฟที่ต้องอาศัยสมาธิในการฟังเพราะคาดเดายาก 55555 สูตรการร้องของเพลงนี้เองก็หลุดขนบเพลง Anisong โดยทั่วไป นึกว่าท่อนฮุคจะเข้ามาเป็นลำดับถัดไปแล้ว…ยั๊งงง ! ยังไม่ใช่ ! ทว่าความแปลกนี้กลับสร้างเสน่ห์ในตัวของมันและทีมงานก็ดึงข้อดีของจังหวะแสนเป็นเอกลักษณ์นี้มาใช้เข้าลำดับภาพให้แมทช์มาก ๆ ได้ดี จัดลำดับภาพให้แสดงชื่อเรื่องกลางเพลง(ช่วงพรีฮุคก่อนเข้าฮุค) ในขณะที่เพลงส่วนมากจะเอาไตเติ้ลไปแสดงที่ต้นเพลงหรือท้ายเพลงแทน

ทีมงานเลือกโชว์ไตเติ้ลของเรื่องที่กลางเพลง

ตัวเพลงเอง Maon Kurosaki ร้องได้อย่างเข้าถึง เหมาะกับเสียงเธอจริงๆ ช่วงที่เพลงนี้ออกมาใหม่ๆ ไม่ห่างกับงาน Bangkok Comic Con 2014 ที่ Paragon Hall ด้วย เธอเคยมาร้องเพลงนี้ในวันนั้น ตอนนั้นบัตรน่าจะหลักร้อยต้นๆ แถมคนดูไม่แออัดกันเยอะ ใครที่ไปดูเธอวันนั้นก็น่าจะคุ้มค่าตั๋วอยู่น้า (RIP คุณ Maon 😭 …[Feb 2023])

7. Pink Blood [To Your Eternity OP]

OP ของ To Your Eternity

ห๊ะ อะไรนะ Utada Hikaru มาร้องเพลงประกอบอนิเม TV !? จริงดิ !! เพื่อความชัวร์ อ่านอีกทีดีกว่า อ่ะ จริง ! ที่ Utada มาร้องเพลงประกอบอนิเมะประเภทฉายบน TV จากปกติเราคงคุ้นกับ Utada ร้องเพลงประกอบให้หนังอนิเมตระกูล Evangelion Reboot หรือซีรีส์เกมส์ Kingdom Hearts บ่อยแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่เธอมาร้องประกอบให้กับอนิเม TV (อนิเมะเรื่องอื่นที่เธอเคยร้องประกอบคืออนิเมะตอนพิเศษ OAV เรื่อง Freedom ของผู้สร้าง AKIRA และหนัง Penguin Highway)

ความแปลกของเพลงนี้ยังคุมธีมความ Utada เช่นเคยเพราะโครงสร้างการแต่งไม่เหมือนใคร ไม่ใช่สเต็ปการแต่ง 1 2 3 4 ตามขนบเพลงทั่วไป ตั้งแต่การขึ้นอินโทรยันการเข้า verse 1 การเว้นช่องไฟที่ไม่ธรรมดา มีลายเซ็นของตัวเองอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ต้องสงสัยหากทำไมเพลงเต็มของเพลงนี้ถึงยาวเพียง 3:20 ทั้ง ๆ ที่เพลงส่วนใหญ่จะยาวเฉลี่ย 3นาทีกว่า – 4นาที

เพราะเพลงนี้มีแค่ Intro + Verse 1 + Chorus 1 + Verse 2 + Final Chorus + Outro

ในขณะที่เพลงส่วนมากจะใช้สูตร
Intro + Verse 1 + Chorus 1 + Verse 2 + Chorus2 + Bridge (Verse 3) + Final Chorus + Outro

Official MV ของ Pink Blood

เนื่องด้วยตัวเพลงตัด chorus 2 และ bridge ออกไป เมื่อเข้าท่อนที่ 2 เสร็จก็ตัดมาที่ final chorus เลย จึงเป็นสาเหตุที่เพลงนี้สั้น ตอนแรกที่ฟังก็เสียดายนะ อยากให้เพลงยาว ครบ ๆ กว่านี้แต่ Utada เองคงคิดมาแล้วว่าจัดเพลงให้มีเท่านี้คงจะมีความกระชับที่พอดี แถม Official MV ทำออกมาได้สวยมาก ๆ และเนื้อเพลงปังจริงๆ ท่อนที่บอกว่า
Being cherished by someone who can’t appreciate your value is a waste. Stop trying hard for things that doesn’t serve you (ได้รับความชมชอบจากคนที่ไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของเธอมันก็เท่านั้นแหละ อย่าไปฝืนกับอะไรสิ่งที่มันไม่คู่ควรกับเธอเลย) จี๊ดชะมัด !! จริง ๆ ก็จี๊ดมันทั้งเพลงเลยอ่ะ (สิ่งที่สวยงามก็ยังคงเป็นสิ่งที่สวยงามแม้จะไม่มีใครสังเกตเห็นก็ตาม)

8. millennium parade [Belle]

ธีมซองสำหรับผลงานภาพยนตร์ตัวล่าสุดในเครือผู้กำกับ Mamoru Hosada มีไม่กี่ครั้งที่เราจะได้ยินเพลงที่มีการใช้ดนตรีสไตล์วงโยธวาทิต ฟังแล้วให้ความรู้สึกเตรียมพร้อมเดินสวนสนาม เปิดตัวมาด้วยกลองสแนร์แสนปลุกเร้าผสานกับดนตรีอิเล็คโทรนิกส์อันกลมกล่อม การลำดับตัวเพลงที่แต่งปรุงแต่งอารมณ์คนฟังให้รู้สึกฮึกเหิมตลอด 3 นาทีที่ฟัง ยิ่งสวมหูฟังยิ่งรู้สึกเสนาะหูเข้าไปอีก มันก้องในหัวไปหมด 5555 หาเพลงที่ดนตรีระทึกใจและฟังแล้วไม่ล้าหูจนเกินไป เพลงนี้ตอบโจทย์อย่างยิ่งล่ะ



9. Kyoumen no Nami [Houseki no Kuni OP]

เพลงสุดท้ายและท้ายสุดที่อยากจะนำเสนอที่สุด เป็นเพลงที่ Youtuber ถึงกับเคยหยิบเพลงนี้มาเป็น Case Study ยกให้เป็นเพลง Anisong ที่โครงสร้างสุดสลับซับซ้อนมากที่สุด ! พี่แกต้องปูทฤษฎีดนตรีถึง 6 นาทีกว่าจะเข้าเรื่องเลยแน่ะ

คลิป Youtuber เล่าถึงโครงสร้างเพลงอันซับซ้อนของเพลง Kyoumen no Nami

ความแปลกของเพลงเริ่มตั้งแต่การเว้นช่องไฟสุดแสนแปลกไม่เหมือนใคร การร้องคำแรกที่ทิ้งช่วงไปสักพักแล้วค่อยร้องคำที่ 2 3 4 ตามมาในแต่ละท่อน จนกระทั่งเข้าช่วงฮุคที่เป็นการสับอารมณ์ ลากเสียงยาวให้กลิ่นอายที่ต่างจากตอนต้นเพลง เรียกว่าไม่ได้มีสูตรสำเร็จตามขนบเพลง Anisong ตัวอื่นๆ ชวนคาดเดายากสำหรับการฟังครั้งแรกว่าท่อนต่อไปจะมาลูกเล่นในลักษณะใด มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง หาตัวจับยากในวงการ แต่ถึงจะแปลกหรือมีโครงสร้างอันซับซ้อน มันยังคงมาพร้อมกับดนตรีแสน Catchy ชวนติดหูผสานกับเนื้อเสียงของ YURiKA ที่ทำให้คนฟังฟังแล้วรู้สึกต้องมนต์ เข้าคอนเซปต์มีเสน่ห์ ลึกลับน่าค้นหา ฟังแล้วหูทองสมราคากับอนิเมที่มีท้องเรื่องเดินโดยตัวละครที่เป็นอัญมณีวิ๊งวับเสียนี่กระไร ✨✨ ยิ่งพอมีคนเอาไปแปลงให้มันเป็น Cover บนเปียโนก็ไม่ได้ทำให้เพลงนี้ดูอ่อนลงแต่อย่างใด มันยังคงเสน่ห์ที่เปียโนสามารถดึงความไพเราะไปได้อีกแบบ เรายังวนฟังได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่เบื่อจนถึงปัจจุบันนี้ ให้ความรู้สึกสดใหม่ในการฟังแต่ละครั้งเสมอ ๆ

โคเวอร์เปียโน Kyoumen no Nami ที่แค่เริ่มอินโทรยังตราตรึง

จบกันไปแล้วกับการจัดอันดับเพลงอนิเมะสุดแปลก หาตัวจับยากในวงการ (ถึงแม้บางอันมันจะแปลกในคนละความหมายก็เถอะนะ 5555 หยวนหน่อยน่า) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการจัดอันดับจากความคิดเห็นส่วนตัวของเรา มันอาจมีเพลงที่ไม่เหมือนกับในใจคุณผู้อ่าน ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องปกติ หากคุณผู้อ่านอยากจะแชร์กันเพิ่มว่ามีเพลงนี้ที่เห็นว่าแปลกในใจคุณ อยากบอกต่อ มาเมาท์เพิ่มกัน About Me กันได้นะฮ้าบบบบบ


บล็อคอื่นๆ ที่น่าสนใจ

📺 Deca-Dence รีวิว อนิเม เหมือนดูยำรวมมิตรแต่เซอร์ไพรส์เทคนิคเล่าเรื่องแฮะ

📺 อนิเม The Big O ที่เค้าว่าดูยาก นี่มัน Batman เวอร์ชั่น Super Robot ชัดๆ+อธิบายตอนจบ

📺 Yamato 2199 รีวิวอนิเมะอวกาศรีเมคยุค 70s-80s ที่ควรค่าแก่การดู

🎵 รวม 40 OST เพลง Fire Emblem โปรดน่าฟังเกือบทุกภาค !

🔑 ติดตามรีวิวอนิเมะอื่น ๆ ได้ใน https://gleegmjournal.com/category/pop-culture/anime/

🔑 Find me in: Anilist | MyAnimeList

บล็อกหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจ

📖 รีวิวBook หนังสือ

🎧 รีวิว Music ดนตรี

🪝 รวมมิตรรีวิวทุกประเภท All Reviews

Loading

GleeGM

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...