ในหนึ่งการฤดูกาลของ Figure Skating มีอะไรบ้าง ? [Figure Skating 101 สำหรับคนดู ตอนที่ 3]
figure skating season
หลังจากที่เขียนบทความแนะนำ Figure Skating 101 สำหรับคนดู ไปสองตอนแล้วทิ้งช่วงไว้สามปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่เราจะได้สานต่อตอนที่สามแล้ว ! 😌😂😂
สำหรับใครที่เคยอ่านสองตอนแรกไปเมื่อนานมาแล้ว (ก่อน 2025) แล้วเพิ่งกลับมาอ่านตอนที่ 3 ในปี 2025 ขอแนะนำให้อ่านตอนที่ 2 (คลิก) ที่เราเขียนเพิ่มเกี่ยวกับเรื่อง Spin, Sequence ในช่วงล่าง ๆ เพิ่มด้วย
ตอนทั้งหมด
⛸ [ตอนที่ 1] มาแยกท่า Jump ใน Figure Skating กันเถอะ ฉบับเทคนิคน้อย
⛸ [ตอนที่ 2] มาอ่าน ใบคะแนน ของ Figure Skating กันเถอะ ฉบับเลขน้อย (เหรอ !?)
⛸ [ตอนที่ 3] ในหนึ่งการฤดูกาล Figure Skating มีอะไรบ้าง ?
⭐ บทความนี้เป็นตอนที่สามของซีรีส์ Basic Figure Skating For คนดู 101 ⭐ (ซีรีส์นี้มี 3 ตอนจบ)
ในสองตอนแรก เราเล่าวิธีการแยกท่ากระโดดของ Figure Skating รวมถึงวิธีการอ่านใบคะแนน และที่มาของการคำนวณคะแนน GOE แต่ยังไม่ได้เอาจิ๊กซอว์ทั้งหมดมาประกอบเลยว่าแล้วในหนึ่งฤดูกาลการแข่ง (Season) เหล่าผู้ชมต้องพบเจออะไรบ้างหรือเดือนไหนปีไหนมีแข่งอะไร
เพื่อที่เรา ๆ จะได้ตามกีฬานี้แบบไปต่อยอดกันเองได้ นี่จึงเป็นที่มาที่เราจะมาขมวดปมทั้งหมดเป็นบทสรุปในตอนที่ 3 นี้นั่นเอ๊งงง ! ซึ่งเราขอเท้าความย้อนอดีตไปที่ต้นตอของกีฬานี้กันก่อน
สารบัญ
Figure Skating คืออะไร
….มาถึงตอนที่ 3 ถึงค่อยมาพูดถึงนิยามของกีฬานี้นะ แหมมม 5555
Figure Skating หรือสเกตลีลา (ตัวย่อ FS) เป็นกีฬาฝั่งฤดูหนาวที่นักกีฬา/นักสเกต ต้องแสดงท่วงท่าต่างๆ ตามองค์ประกอบ (Element) ที่กติกากำหนดไว้เคียงคู่กับดนตรี องค์ประกอบเหล่านั้นได้แก่ การกระโดด (Jump) การออกสเตปที่ซับซ้อนบนพื้นน้ำแข็ง (Step Sequence) การหมุนตัว (Spin) ที่เกริ่นไปแล้วในตอน 1+2
แข่งวาดลวดลายที่พื้น (Compulsory Figure รูปฝั่งซ้าย) จากนั้นท่าถูกพัฒนาให้มีความยาก ความซับซ้อนมากขึ้น จากการกระโดดหมุนสองรอบจนมาถึงสี่รอบ อีกทั้งปรับกติกา ระบบคะแนนและรูปแบบการแข่งให้ร่วมสมัย
จุดกำเนิดของมันมาจากการกำหนดให้นักสเกตขีดเขียนรูปร่างบนพื้นน้ำแข็งเป็นลวดลาย-รูปร่างต่างๆ (Figures) และค่อย ๆ พัฒนารูปแบบการแข่งให้กีฬานี้มีความบันเทิงมากขึ้น ทำการตัดเพิ่ม/ลดทอนองค์ประกอบบางอย่างจนกลายมาเป็นรูปแบบในปัจจุบัน ก็คล้ายๆ กับที่ชาวเน็ตเคยแซวๆ ว่ากีฬายิมนาสติกสมัยก่อนมันกระโดดดึ๋งๆ น่ารักจัง ตอนนี้เป็นกีฬาหมุนตัวเหนือมนุษย์ไปละ 55555 เช่นเดียวกับสเกตที่เมื่อก่อน ไถๆ หมุนๆ ไม่กี่รอบแบบน่ารักๆ ปัจจุบันโดดเฟี้ยวฟ้าวสี่รอบรึมีท่าตีลังกากลับหลังกันไปเรียบร้อย
ประเภทรองเท้าสเกต
FS เป็นคนละกีฬากับฮอกกี้ ฮอกกี้คือกีฬาแนวยิงลูกเข้าประตูเหมือนฟุตบอลเวอร์ชันน้ำแข็งและก็เป็นคนละอย่างกับ Speed Skating ที่เป็นการแข่งกรีฑาวิ่งที่ใครสเกตเข้าเส้นชัยก่อนชนะ รูปทรงรองเท้าสเกตของสามกีฬานี้ก็แตกต่างกัน เช่นหน้าตาใบมีดที่ติดกับรองเท้านั้นไม่เหมือนกัน ใบมีดยาวบ้าง สั้นบ้าง ตรงหัวใบมีดมีรอยหยักบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในกีฬานั้นๆ ดังนั้นใครเล่นฮอกกี้แล้วจะเอารองเท้าฮอกกี้ไปหมุนตัวติ้วๆ แบบนักกีฬา FS ก็ไม่ได้นะ (และนี่ก็เคยเป็นมุกที่ใช้ในหนัง The Cutting Edge ที่นักกีฬาฮอกกี้ที่ต้องผันไปเล่นสเกตลีลาพลาดในจุดนี้เพราะใช้รองเท้าผิดประเภท)
สเกตลีลา-ฮอกกี้-สปีตสเกต
ประเภทแข่ง (Discipline)
หลังจากแยกกลุ่มกีฬาและรองเท้าไปได้แล้ว เราจะมาโฟกัสกันที่สเกตลีลากัน ใน FS ยังมีประเภทการแข่งที่ปลีกย่อยอีกสี่ประเภทได้แก่
เดี่ยว (Single)
- Men — ชายเดี่ยว
- Women — หญิงเดี่ยว
คู่ผสมชาย/หญิง (Pairs, Ice Dance)
การแข่งประเภทคู่ ดูรูปข้างบนอาจจะรู้สึกว่าก็เหมือนกันนี่นา…? แต่ทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันในองค์ประกอบท่าที่ใช้แข่ง จุดต่างเด่น ๆ ที่เห็นชัดเลยคือ ฝั่ง Ice Dance ไม่มีท่ากระโดด ไม่มีการที่ฝ่ายชายโยนฝ่ายผู้หญิงลอยห่างจากตัว รึจะมองแยกแบบง่าย ๆ ว่า Pairs แข่งคู่ที่ไฮไลท์คือการกระโดด ส่วน Ice Dance คือแข่งคู่ที่ไฮไลท์คือ Step Sequence ก็ได้
↑ ท่าตัวอย่างที่ใช้แข่งใน Pairs
- Pairs — ตัวอย่างท่าที่ใช้ในการแข่งประเภทนี้ เช่น ทั้งสองคนต้องกระโดดพร้อมกัน (side-by-side Jump), ฝ่ายชายมีการโยนผู้หญิงลอยออกด้านข้างเพื่อให้ผู้หญิงทำการกระโดด (Throw Jump), มีท่ายกผู้หญิงชูขึ้นเหนือหัวผู้ชาย (Lift) รึฝ่ายชายจับฝ่ายหญิงนอนหมุนตัวเป็นวงกลม (Death Spiral)
↑ ท่าตัวอย่างที่ใช้แข่งใน Ice Dance
- Ice Dance — คู่ผสมคล้ายการเต้นลีลาศ ประเภทนี้ไม่มีกระโดดเหมือน Pairs แต่มีการเดินสเตปตามแพทเทิร์นที่กำหนด ฝั่งชายหญิงประคองแขนเหมือนกำลังเต้นรำในลีลาศ มีการหมุนตัวที่ต้องทำให้พร้อมเพรียงกัน (Twizzle) มีท่าผู้ชายยกผู้หญิง (แต่ท่ายกจะต่างจาก Pairs เล็กน้อย)
ในช่วงหลังแคนาดาอนุญาตมี Ice Dance ประเภทคู่เพศเดียวกันมาแข่งด้วย(แหล่งข่าว) แต่ยังไม่ได้จัดแข่งเป็นทางการในระดับสากล
หมายเหตุนิดนึงว่าในช่วงฤดูกาลหลังๆ อย่าง 2024/25 ฝั่ง Ice Dance มีปรับกติกา เพิ่ม/ลดบางท่า พวกตัวย่อท่าในฤดูกาลเก่า ๆ อย่าง 2021/22 อาจจะไม่เห็นบนใบคะแนนของฤดูกาลใหม่ๆแล้ว แต่ในภาพรวม ท่าที่ Ice Dance แข่งยังเหมือนวิดีโอด้านบนอยู่
แข่งคู่ทั้งสองประเภทยังมีท่าปลีกย่อยอื่นๆ เฉพาะตัวเองอยู่อีกแต่ด้านบนเป็นเพียงตัวอย่างเอาให้เห็นความต่างแบบคร่าว ๆ ไปละกันเนอะ
หมู่คณะ (Synchronized Skating)
นอกเหนือจากสี่ประเภทบน จะมีอีกประเภทแข่งคือ Synchronized Skating เป็นการสเกตแบบหมู่คณะนับสิบชีวิต (8-16 คน) แต่เค้าจะมีจัดแข่งแยกเป็นอีกจักรวาลของเค้า ซึ่งเราจะไม่ได้เล่าประเภทนี้ต่อในบทความนี้
** บทความนี้จะขอลงรายละเอียดสำหรับประเภทแข่งเดี่ยว (Single) เป็นหลัก
แต่อาจมีพูดถึงฝั่งคู่บ้างประปราย **
รุ่นอายุแข่ง
แล้วนักกีฬาที่ลงแข่ง มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เค้าจัดช่วงอายุกันยังไง ?
หลัก ๆ เค้าแบ่งเป็นรุ่น Junior และ Senior
อายุขั้นต่ำของ Senior คือ 17 ปีเป็นต้นไป อ้างอิงจากกติกาตอนฤดูกาล 24/25
หมายเหตุว่า กติกาของกีฬานี้เปลี่ยนแปลงบ่อยและใช้เวลาปรับ/ขยับในหลายฤดูกาล กฏอาจจะเปลี่ยนเพดานอายุอีกก็ได้ ซึ่งต้องคอยติดตามข่าวสารในแต่ละฤดูกาล เพื่อความชัวร์แนะนำให้เช็คกับเว็บรวบรวมเอกสารประกาศของ ISU อีกที ถ้าสมมุติเข้ามาอ่านบล็อกนี้หลังจากที่เราไม่ได้เข้ามาอัปเดตน่ะนะ
ส่วนรุ่นที่เด็กกว่า Junior เรียกว่า Novice แต่ส่วนใหญ่แข่งกันในประเทศกันเอง ส่วนคนดูจะได้ดูรายการที่ถ่ายทอดสดข้ามประเทศกันจริงจังก็คือรุ่น Junior, Senior
สมาคมสเกต
ในแต่ละประเทศก็มีสมาคมสเกตประเทศใครประเทศมันเช่นกัน รับผิดชอบในส่วนของการปั้นนักกีฬาและส่งไปแข่งสู่ชั้นแนวหน้า ตัวอย่างสมาคมของแต่ละประเทศ เช่น
- อเมริกา : USFSA — United States Figure Skating Association
- ญี่ปุ่น : JSF — Japan Skating Federation
- เกาหลี : KSU — Korea Skating Union
- ไทย : FSAT —Figure and Speed Skating Association of Thailand
ข้างบนเป็นสมาคมที่รับผิดชอบในแต่ประเทศ แต่ถ้าพูดถึงสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลกีฬา Figure Skating และเป็นผู้จัดรายการสเกตแข่งระดับนานาชาติต่างๆ นั่นคือ ISU (International Skating Union) ที่ก่อตั้งมาในปี ค.ศ.1892 รับผิดชอบในส่วนกีฬา Figure Skating, Speed Skating และ Synchronized Skating
ถ้าใครถามว่า อ้าว แล้วโอลิมปิกล่ะ ? ไม่ใหญ่กว่าเรอะ ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบโอลิมปิกคือ IOC—International Olympic Committee ซึ่งเป็นรายการแข่งทุกๆ 4 ปี รับผิดชอบในภาคส่วนของรายการโอลิมปิก แต่หัวข้อนี้ เรามาพูดถึงสมาคมที่รับผิดชอบสเกตโดยทั่วไปและจัดแข่งในทุกๆ ฤดูกาลกันก่อน เดี๋ยวโอลิมปิกจะมีกล่าวถึงในหัวข้อล่าง ๆ
ฤดูกาล FS เริ่มแข่งเดือนไหนถึงเดือนไหน
ถ้าสมมุติเทียบว่าฤดูกาลของลีกบาสเกตบอลชั้นนำ NBA เริ่มแข่งที่เดือนตุลาคม โดยทีมไหนที่ได้สถิติชนะเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของลีก ก็จะได้ไปแข่งทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ในช่วงเมษายน-มิถุนายน แล้วจึงจบฤดูกาล พอมันคาบเกี่ยวข้ามปีแบบนี้ เค้าจะนิยมเรียกว่า ซีซัน 2024/2025 เพื่อให้รู้ว่าเป็นฤดูกาลที่คาบเกี่ยวปี คล้ายๆ เปิดเทอมบ้านเราน่ะแหละ
เส้นทางของ FS ก็มีลักษณะคล้ายแบบนั้น ฤดูกาลเริ่มในเดือนสิงหาคมก่อนที่จะไปจบที่รายการใหญ่ ๆ ในเดือนมีนาคม (และคนนิยมเรียกว่าซีซัน 2024/25 เพื่อให้รู้ว่ามันคาบเกี่ยวปีเช่นกัน)
อาวุธที่นักสเกตต้องเตรียมใช้แข่งในหนึ่งฤดูกาล: โปรแกรม
หลังจากที่เราอธิบายท่ากระโดด การคิดคะแนนในภาคเทคนิคและความชดช้อยไปในสองตอนก่อนหน้านี้แล้ว แต่ FS ไม่ใช่การแข่งกระโดดหมุนติ้ว ๆ อย่างเดียว (แม้ช่วงหลังคนจะแซวว่าวงการดูให้น้ำหนักกับการกระโดดมากกว่าความชดช้อยก็เถอะนะ) แต่มันคือการร้อยเรียงท่วงท่าทั้งในส่วนของการกระโดด, การเดินสเตปและการหมุนตัว บรรจงเคียงคู่ไปกับทำนองดนตรีเพื่อประกอบกันออกมาเป็น โปรแกรม (Program) หรือบางคนก็เรียกว่ารูทีน (Routine) ซึ่งนักสเกตต้องเตรียมสองโปรแกรมเพื่อใช้แข่ง ได้แก่ Short Program (SP) และ Free Skating (FS) ซึ่งชื่อโปรแกรมนี้ใช้ทั้ง Men, Women, Pairs
ส่วนของฟาก Ice Dance มีชื่อเรียกเฉพาะของเค้าว่า Rhythm Dance, Free Dance แทน
โปรแกรม SP, FS คืออะไร
โปรแกรมคือ Performance การสเกตที่เราต้องเลือกดนตรีที่จะใช้แข่ง เพลงบรรเพลงหรือเพลงมีเนื้อร้องก็ได้ และออกแบบว่าในโปรแกรมนี้จะกระโดดท่าอะไร กระโดดตรงไหนของลานแข่ง ทำไม้ทำมือยังไง รึกระโดดถึงพื้นแล้วให้มันพอดีกับเสียงเพลงที่กลองลงจังหวะพอดีดีมั้ย ตรงนี้ใส่ Sequence แบบนี้รึ Spin แบบไหน เอาแบบธีมโปรแกรมดุดันหรืออ่อนช้อย (อย่าเผลอต่อบทว่า “เอาสีดำด้านหรือดำเงา” ล่ะ 5555) ซึ่งในส่วนนี้นักสเกตก็ต้องมานั่งออกแบบกับโค้ชและนักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) เพื่อเสกสรรออกมาเป็นโปรแกรมพร้อมสำหรับพิชิตเหรียญ
วัน SP เลือกเพลงร้อง วัน FS เป็นเพลงบรรเลง
ด้วยความที่นักสเกตมีโปรแกรมส่งการบ้านให้กรรมการสองตัว มันก็ไม่ใช่ว่าเค้าต้องส่งการบ้านให้กรรมการตรวจการบ้านภายในวันเดียว ในรายการแข่งหนึ่ง ๆ นั้น แต่ละ Discipline จะถูกแบ่งเป็น Discipline ละสองวัน เช่น Men แข่งโปรแกรม SP วันที่ 21 ส่วนวันที่ 22 แข่งโปรแกรม FS
โปรแกรมที่ใช้วันแรกของการแข่งสั้นกว่าวันที่สองเสมอ วันแรกแข่ง Short Program มีความยาว 2:40 นาทีและกติกามีข้อกำหนดปลีกย่อย เช่นต้องใส่ท่า Flying Spin, Triple Jump ฯลฯ ในขณะที่วัน Free Skating ไม่ได้มีแพทเทิร์นกำหนด นักกีฬาอยากใส่ท่าอะไรก็ใส่ให้หนำใจ ถึงได้เรียกว่าฟรีสเกตสมชื่อ 5555 แต่ก็ไม่ใช่จะฟรีถึงขนาดใส่แต่ท่ากระโดดมันอย่างเดียวนะ ต้องมีความสมดุลแบบพอดีๆ กล่าวคือยังมีท่า Jump, Spin, Sequence ใส่เข้ามาคละ ๆ ด้วย ความยาวโปรแกรมวัน FS ประมาณ 4 นาที
ถ้าหากใครเคยดูอนิเมะ Yuri on Ice น่าจะคุ้นเคยกับโปรแกรมของพระเอก Katsuki Yuri ที่มีโปรแกรมแข่งวัน SP คือเพลง In Regards to Love: Eros และวัน FS: เพลง Yuri on Ice นั่นเอง
จากเอกสาร SPECIAL REGULATIONS & TECHNICAL RULES 2024
นักกีฬาต้องทำคะแนนให้ดีในทั้งสองวันเพราะคะแนนจะถูกนับรวมและเรียงลำดับสามคนแรกเพื่อจะได้ขึ้นโพเดียม ซึ่งก็มีกรณีที่นักกีฬาบางคนทำวัน SP ได้ไม่ดีหล่นไปกลางตารางเลยแต่สามารถระเบิดฟอร์มขึ้นมาวัน FS จนไต่มาติด Top 3 ได้ ในทางกลับกันก็มีนักกีฬาที่ฟอร์มดีจัดในวัน SP แต่พลาดแรงจนตกโพเดียมในวันที่สองไปเช่นกัน
และเดี๋ยวนี้บางรายการ ถ้าวัน SP เล่นได้ติด Top 3 เค้าก็มีให้เหรียญรางวัลปลอบใจเล็กๆ ประจำวัน SP นะ(เรียกว่า Small Medal) แต่ไม่ได้มีน้ำหนักเท่าเหรียญวันที่สอง ถ้าจะเอาในแง่เก็บคะแนนสะสม ก็ต้องเล่นให้ดีทั้งสองวันน่ะแหละ แฮ่ ~
Gala
เมื่อจบการแข่งแสนดุเดือดไปหมดแล้ว ในรายการ Senior จะมีรายการปิดท้าย “Gala” ที่เสมือนงานเลี้ยงอำลาคนดูและปิดม่านรายการ เป็นงานสเกตฟรีสไตล์ที่เน้นผ่อนคลาย ไม่ซีเรียส ไม่นับคะแนน นักสเกตอยากทำไรทำ อยากแต่งชุดมาสคอต อยากหยิบอุปกรณ์เสริมมาใช้ เอาเพื่อนมาเต้นด้วย (อะไรที่ทำไม่ได้ในการแข่งน่ะนะ 55555) สามารถทำได้หมดในช่วงนี้ ซึ่งสมัยก่อน กฎสมาคมเดิมเคยห้ามไม่ให้ใช้เพลงที่มีเสียงร้องในการแข่งหรือทำท่าตีลังกากลับหลัง (Backflip) แข่งด้วย จึงเป็นหลายครั้งที่ในยุคก่อนหน้านี้ นักสเกตชอบเล่นท่าที่โดนแบนหรือหยิบเพลงคนร้องมาสเกตในโปรแกรม Gala
ซึ่งใน Gala ลานแข่งจะปิดไฟสลัว ๆ สเกต เพราะงั้นถ้าใครเคยไปดูพวกภาพยนตร์สเกต (เราเคยเขียนบล็อกแนะนำหนัง Figure Skating ไว้ในโพสนี้) แล้วเจอฉากที่แข่งเก็บคะแนนแล้วปิดไฟน่ะนะ…อันนั้นมันหนังเด้ออ 55555 ชีวิตจริง เค้าแข่งเปิดไฟกัน
มีทั้งคนที่สเกตแบบคีพคูลเหมือนตอนแข่งจริงหรือไม่ก็ออกแนวหลุดโลกไปเลย
ในหนึ่งรายการจัดแข่งอะไรบ้าง จัดกี่วัน
โดยทั่วไป หนึ่งรายการจะแข่ง 4 Disciplines และแบ่งแข่ง Discipline ละสองวัน จึงทำให้ในหนึ่งรายการรวมงาน Gala จะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน บางรายการอย่างเช่นรุ่น Junior บางประเทศก็ไม่มีแข่ง Pairs และไม่มีจัดงาน Gala แต่ถ้า Full Option คือแข่งทั้งสี่ Disciplines + Gala ด้วย
รายการประจำฤดูกาล (Event)
พูดถึงโปรแกรมใช้แข่งและพื้นเพของรายการแข่งไปแล้ว เข้าสู่รายละเอียดรายการ (Event) กันดีกว่าว่ามันมีรายการแข่งปลีกย่อยอะไรกันบ้าง
รายการประเภทซีรีส์ (แข่งเป็นชุด ๆ)
ในทุก ๆ ฤดูกาล มีรายการแข่งประจำปีอยู่สองซีรีส์หลัก ได้แก่
ซีรีส์ Grand Prix (ส.ค. – ธ.ค.)
—ต่อจากนี้จะพิมพ์ Grand Prix ย่อ ๆ ว่า GP—
GP คือซีรีส์เก็บคะแนนต่อเนื่อง มีจัดแข่งทั้งรุ่น Junior, Senior โดยแบ่งเป็น 6 รายการย่อยข้างใน 6 ในที่นี้มาจากเจ้าภาพ 6 ประเทศที่ถูกคัดเลือกให้จัดรายการ บางปีก็อาจจะเปลี่ยนประเทศ แล้วแต่สมาคมคุยกัน และเจ้าภาพที่จัด GP รุ่น Junior กับ Senior ก็คนละประเทศด้วย ยกตัวอย่างของฤดูกาล 24/25 รายการ Grand Prix รุ่น Senior
- Skate America — อเมริกา
- Skate Canada — แคนาดา
- Grand Prix de France — ฝรั่งเศส
- NHK Trophy — ญี่ปุ่น
- Finlandia Trophy — ฟินแลนด์
- Cup of China — จีน
ชื่อรายการก็อาจชวนงงนิดๆ สำหรับคนเพิ่งมาตามใหม่ๆ ว่าทำไมเค้าไม่ตั้งชื่อรายการให้คล้ายๆ กันเป็น GP ให้หมดแล้วแค่เปลี่ยนชื่อประเทศข้างหลังเอา เช่น GP France, GP Japan จะได้จำได้ง่ายๆ (ฮา) เรื่องนี้..คนดูต้องอาศัยความคุ้นเคยกันไป…สู้ ! 🔥
ในแต่ละรายการจะมีการจัดอันดับและโควต้าต่างๆ (จากระบบที่เค้าคำนวณกันไว้) ว่าประเทศนี้สามารถส่งนักกีฬาเข้ามาแข่งได้กี่คนๆ เช่นเกาหลีส่งได้ X คน ญี่ปุ่นส่งได้ Y คน สมาคมเกาหลี/ญี่ปุ่นก็จะจัดสรรกันอีกว่าในโควต้าตรงนี้ๆ รายการนี้จะส่งนักสเกตคนใดไปแข่ง โดยเฉลี่ยนักสเกตคนนึงจะได้ถูกจัดสรรไปแข่งในซีรีส์ GP ราวๆ 1-2 รายการ
และเมื่อแข่งจบครบหกรายการ นักสเกตที่ทำคะแนนรวมได้สูงสุดหกคนใน 4 ประเภทจะต้องมาเจอรอบตัดเชือกกันอีกครั้งในรายการ Grand Prix Final (GPF) ซึ่ง GPF เป็นการแข่งที่มัดรวมทั้งฝั่ง Junior และ Senior ไว้ในรายการเดียว ดังนั้นเมื่อรวมหกคนจากสี่ประเภทและจากสองรุ่นด้วย เท่ากับว่าในรายการจะมีผู้เข้าแข่งทั้งหมด 48 คน/คู่เพื่อเฟ้นหาที่สุดของที่สุด นี่มัน Final ใน Final 555555
อย่างฤดูกาล 24/25 นี้ รายการ Final ก็จัดที่ฝรั่งเศส เท่ากับว่าฝรั่งเศสในฤดูกาล 24/25 จัดทั้งรายการย่อยอย่าง Grand Prix de France และรายการใหญ่ GP Final เลย
เว็บดูคะแนนสดของรายการ GP จะโฮสอยู่บนเว็บของ ISU ซึ่งเราแนะนำเว็บดูคะแนนสดในแต่ละรายการจากการ Google ด้วยคีย์เวิร์ด: “ชื่อรายการ isuresults” จะสะดวกกว่า ดังที่เราอธิบายไว้ในตอนที่ 2
ซีรีส์ Challenger (ส.ค. – ธ.ค.)
เป็นซีรีส์กลุ่มรองลงมาจาก Grand Prix แข่งกระจายไปในแต่ละประเทศ และแต่ละประเทศก็ใช้ชื่อที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามันคือ Challenger หรอก เช่น Tallin Trophy, Lombardia Trophy, Warsaw Cup, Denis Ten Memorial Challenge อันนี้คนดูต้องใช้ความคุ้นเคยเข้าสู้…อีกครั้ง 😅 แต่ละปีก็จะวนเวียนเจ้าภาพกันไป บางรายการ ปีนี้เข้าร่วมบ้าง ไม่เข้าบ้าง ซึ่งนักสเกตที่เข้าร่วมซีรีส์เหล่านี้ต่างเข้ามาแข่งเพื่อเก็บคะแนนสำหรับจัดอันดับระดับโลก (World Standing)
รายการกลุ่มนี้มักจะไปโฮสเว็บดูคะแนนสดของตัวเองแยกของใครของมันกันเอง แต่หน้าตาเว็บก็เหมือนกับของ GP ที่เป็นตารางสายรุ้งเช่นเดิม และการใช้วิธีค้นหาบน Google ก็ยังเวิร์คเหมือนเดิมเช่น Warsaw Cup 2024 live score
ถ้าอยากจะหาดูซีรีส์นี้ แต่ไม่รู้จะจิ้มซีรีส์ไหนก่อนดี อาจเริ่มที่สองรายการอย่าง Lombardia Trophy, Nebelhorn Trophy ก่อนก็ได้ เพราะเป็นรายการที่นักกีฬาตัวท็อปมักมาลงรายการนี้
รายการระดับทวีป (ม.ค-ก.พ.)
พูดถึงรายการซีรีส์ที่แข่งช่วงกลาง – ปลายปีไปแล้ว เมื่อเข้าปีใหม่ เราจะเจอรายการที่สเกลใหญ่ขึ้นมานั่นคือรายการแข่งระดับทวีป ได้แก่
- European Figure Skating Championships (ชื่อเล่น Euro Figure) นักกีฬาที่สังกัดในประเทศทั้งหลายที่อยู่ในทวีปยุโรปจะแข่งในรายการนี้ได้ มักจัดช่วงมกรา แข่งเฉพาะรุ่น Senior ที่บอกว่านักกีฬาที่สังกัด เพราะก็มีกรณีที่นักกีฬามีเชื้อชาติและประเทศที่ไปสังกัดแข่งต่างกัน เช่นนักกีฬามีเชื้อชาติแคนาดา แต่ไปแข่งในนามประเทศเกาหลีใต้ เค้าก็จะต้องอยู่ภายใต้สมาคมของเกาหลีใต้
- Four Continents Figure Skating Championships (ชื่อเล่น 4CC) สี่ทวีปที่เหลือที่ไม่ใช่ยุโรป เช่นประเทศในโซนเอเชีย, อเมริกา จะมาแข่งในรายการนี้ได้ มักจัดช่วงมกรา – กุมภา แข่งเฉพาะรุ่น Senior
ในสองรายการนี้ แต่ละประเทศจะส่งนักกีฬาชั้นนำของตัวเองมาเพื่อประชันในรายการนี้ เรียกได้ว่ารวมมิตรตัวตึงสุดๆ
และหลังจากผ่านพ้นระดับทวีปไปแล้ว เราจะมาที่จุดไคลแมกซ์สุดประจำฤดูกาล นั่นคือระดับโลก
รายการระดับโลก (ก.พ.-มี.ค.)
World Figure Skating Championships มักจัดช่วง กุมภา-มีนา โค้งสุดท้ายของฤดูกาลแล้ว ซึ่ง World Champ ของ Junior และ Senior เค้าจัดแยกประเทศกันนา เช่นฤดูกาล 2023/24 : World Junior แข่งที่ไต้หวัน ส่วน World Senior แข่งที่แคนาดา
ปกติรายการ World ของฝั่ง Senior จะเรียกว่า World เฉย ๆ เลย ไม่มีคำว่า Senior ต่อท้าย ในขณะที่ของ Junior จะมีระบุในชื่อรายการว่า World Junior
World Champ เป็นรายการตัวตึงตัวท็อปจากทุกทวีป ไม่ได้คัดเหลือหกคนสุดท้ายแล้วมาแข่งเหมือนซีรีส์ GP นั่นคือในบางประเภทแข่งเช่นแข่งเดี่ยวก็ลงกันเป็นระดับ 30 คนเลยทีเดียว ส่วนการส่งใครมาแข่งนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาคม เช่นส่งคนนี้ไป 4CC ละกัน ส่วนคนนี้ให้ไป World
รายการอื่นๆ (เช่น โอลิมปิก)
นอกเหนือจากรายการที่จัดทุกปีที่กล่าวไว้ด้านบน มันก็มีรายการพิเศษตามโอกาสต่าง ๆ ด้วย เช่น Olympics ที่จัดทุกๆ สี่ปี หลายคนอาจเอะใจว่า เอ…ทำไมดูแข่งโอลิมปิก เทควันโด ตีแบด ในปารีสปี 2024 ล่าสุด ไม่ยักเจอกีฬาสเกตเลย… มันอยู่ไหนอ่ะะะ
โอลิมปิกเอง เค้าก็แบ่งจัดตามประเภทกีฬาเหมือนกัน โอลิมปิกที่ได้รับความนิยมในไทยเราและดูกันเยอะๆ คือกีฬาประเภทฤดูร้อน—Summer Olympics ส่วนกีฬากลุ่มหิมะทั้งหลาย แข่งสเกต, สกี, สโนว์บอร์ด เค้าแข่งในโอลิมปิกฤดูหนาว—Winter Olympics
โอลิมปิกฤดูร้อนจัดเป็นรอบ ดังนี้
โตเกียว 2020 — ปารีส 2024 — แอลเอ 2028 — บริสเบน 2032 ….
ในขณะที่รอบจัดโอลิมปิกฤดูหนาวคือ
พยองชัง 2018 — ปักกิ่ง 2022 — มิลาน คอร์ติน่า 2026 — เทือกเขาแอลป์ ฝรั่งเศส 2030 ….
การเว้นช่วงโอลิมปิกของฤดูร้อนกับฤดูหนาวนั้นห่างกันสองปี โอลิมปิกฤดูร้อนจัดแข่งเดือนสิงหาคมฉันใด ฤดูหนาวจัดแข่งเดือนกุมภาพันธ์ฉันนั้น ดังนั้นฤดูกาลสเกตไหนที่คาบเกี่ยวกับปีที่มีโอลิมปิก เราจะได้เห็นนักกีฬาแข่งโอลิมปิกกันก่อน แล้วค่อยไปต่อที่รายการ World ในช่วงนี้จะมีทั้งนักกีฬาที่เลือกไปแข่งแค่โอลิมปิกแต่ถอนตัวที่ World หรือลุยแข่งมันทั้งคู่ เหตุผลอาจด้วยเหตุผลส่วนตัว/อาการบาดเจ็บต่างๆ ฯลฯ
นอกเหนือจากโอลิมปิก ก็มีรายการปลีกย่อยอื่นๆ ไม่ว่าจะรายการจัดแข่งภายในประเทศกันเอง เช่น
- Thailand Open Figure Skating Trophy: แข่งชิงแชมป์ในประเทศไทย
- South Korean Figure Skating Championships: แข่งชิงแชมป์ในเกาหลี
- Japan Figure Skating Championships: แข่งชิงแชมป์ในญี่ปุ่น
- Winter World University Games (ชื่อเดิม Winter Universiade): รายการแข่งสำหรับนักเรียนมหาลัย เว้นช่วงสองปีแบบ SEA Games บ้านเรา
- Winter Youth Olympics: รายการโอลิมปิกสำหรับรุ่นจูเนียร์ ล่าสุดจัดที่คังวอน เกาหลีเมื่อมกราคม 2024 เว้นช่วง 4 ปี
ฯลฯ
สรุปปฏิทินการแข่งในหนึ่งฤดูกาล
เราได้สรุปรายการ FS สำคัญ ๆ มาไว้ในปฏิทินด้านล่างนี้แล้ว เริ่มที่สิงหาคมปีนี้แล้วไปจบที่มีนาคมปีถัดไป อาจมีบวกลบบางรายการนิดหน่อยที่เริ่มไวกว่าสิงหา แต่เอาคึกคักจริง ๆ คือสิงหาคม
จากภาพด้านล่าง ขอยกตัวอย่างฤดูกาล 2024/25 เพื่อให้เห็นภาพ
แนะนำแหล่งติดตามข่าวสารสเกตเพิ่มเติม
เราเล่าภาพรวมของฤดูกาลสเกตกันไปเรียบร้อยจนครบสามตอนแล้ว นอกเหนือจากนี้ สำหรับคนที่อยากไปตามข่าวสารรายฤดูกาลกันต่อ เราขอแนะนำช่องทางต่าง ๆ เพื่อจะได้ไปติดตามกันต่อเองได้
โดยทั่วไปรายการสเกตของสมาคม ISU เช่นซีรีส์ GP, World สามารถดูสด+ย้อนหลังได้ฟรีบน Youtube ของสมาคม ISU คลิก ส่วนรายการตระกูล Challenger มีสตรีมให้ดูเช่นกันแต่ไม่ได้ลงช่องของ ISU เราไม่ค่อยได้ดูซีรีส์นี้ มีแวะไปดูเป็นครั้งคราวบ้างเวลามีคนอัปคลิปเป็นรายคนมาลงตาม Youtube ทีหลัง
[1] แหล่งเช็คตารางแข่งสำหรับทุก Timezone
สำหรับใครที่สับสนเวลา Timezone จัดการแข่ง ขอแนะนำแอคเคาท์ fskatecomptimes บน X (Twitter) ที่กำกับ Timezone ของแต่ละประเทศให้เลย Timezone ประเทศไทยเราคือ GMT+7
[2] เว็บ/บัญชีทางการของสมาคม ISU
เว็บไซต์หลักของ ISU | Youtube ของ ISU | ตารางรายการแข่ง
[3] เว็บไซต์อัปเดตข่าวสารวงการ Figure Skating ต่างๆ
- So You Want to watch Figure Skating เว็บรวบรวมบทความสอนการดูสเกต อัปเดตข่าวสาร หรือรายละเอียดรายการแข่งที่จะมาถึงในอนาคต
- Golden Skate เว็บรวมข่าวสารสเกตและเว็บบอร์ดที่อยู่มาอย่างยาวนาน (ในยุคที่การเล่นเว็บบอร์ดยังเฟื่องฟู) ปัจจุบันยังมีคนพูดคุยกันอยู่เรื่อยๆ
- Anything GOEs เว็บรวบรวมข่าวสาร บันทึกฤดูกาลที่ผ่านมา บางทีก็ทำโพสรวบรวมดนตรีที่นักสเกตในซีซันนั้นๆ ด้วย
- In the Loop Podcast เว็บที่มีไปสัมภาษณ์ นักสเกต พูดคุย Podcast รูปภาพตามอีเวนท์ต่างๆ
- Inside Skating เว็บรวบรวมข่าวสาร บทความสัมภาษณ์
- IFS Magazine เว็บนิตยสาร International Figure Skating นิตยสารรวบรวมข่าวกีฬาน้ำแข็งที่อยู่มาราว 30 ปี
[4] ห้อง reddit พูดคุย Figure Skating
reddit ฟอรั่มพูดคุยที่แบ่งเป็นห้องๆ คล้าย Pantip บ้านเรา แต่คนใช้เป็นอันดับต้นๆ
https://www.reddit.com/r/FigureSkating/
[5] แฟนแอคเคาท์ Twitter อัปเดตข่าวสารสเกตเกาหลี
SkatingKor | Kteam translations
[6] แฟนแอคเคาท์ Twitter อัปเดตข่าวสารสเกตญีุ่่ปุ่น
[7] แอคเคาท์ Twitter อัปเดตชาร์ท Visualization สถิติต่าง ๆ ของนักสเกต
bigfanofskating ใครที่ชื่นชอบการแสดงผลข้อมูลเป็นชาร์ทต่างๆ (Data Visualization) ไม่ว่าจะ Stack Bar, Bar Chart, Radar Chart ในข้อมูลของสถิติคะแนนนักสเกต ต้องดูของแอคเคาท์นี้
[8] หนังสือการ์ตูนเรื่องยาว Figure Skating: Medalist
(ว่าแล้วก็อวยการ์ตูนซะหน่อย 55555)
หากใครที่เป็นสายชอบอ่านหนังสือการ์ตูน (มังงะ) เป็นทุนเดิม อยากแนะนำให้ไปลองอ่าน Medalist ซึ่งเราเคยรีวิวแบบละเอียดเอาไว้อีกโพสนึง ปัจจุบันมีลิขสิทธิ์แปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Siam Inter Comics และมีอนิเมชั่นฉายในปี 2025 ในสตรีมมิ่ง Disney Plus ที่เราแนะนำเรื่องนี้ เพราะในหนังสือเริ่มที่ตัวเอกยังสเกตไม่เป็นแล้วค่อยๆ เข้าวงการสอบไต่ระดับในญี่ปุ่น มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราไม่ได้เล่าในบทความซีรีส์นี้อีกมากมาย เช่นในแต่ละ Step Sequence เค้าจะนับเป็นชุดย่อยๆ (Cluster) ข้างในอีก, วิธีการคำนวณคะแนน, SP ห้ามใส่ท่าอะไร จะจัดโปรแกรมเพื่อสู้คู่แข่งยังไง, ทำไมท่า Flip, Lutz ถึงยากกว่า Toe Loop ? ก็เพราะขาข้างที่กระทุ้งมันเป็นขาฝั่งข้างในเวลาหมุนตัว (กระทุ้งขาขวาแต่พอหมุนตัวไปทางซ้าย มันจะติดขาข้างใน) ซึ่งต่างกับ Toe Loop ที่ใช้ขากระทุ้งข้างที่เป็นขาฝั่งข้างนอก (กระทุ้งขาซ้าย หมุนตัวไปทางซ้าย)
และเนื่องจากเป็นการ์ตูนที่เริ่มเขียนปี 2020 และยังเขียนไม่จบ (ในขณะที่เราปล่อยบทความนี้ปี 2025) กติกาในเรื่องจึงใช้ระบบคะแนนปัจจุบันที่เป็น GOE ช่วงคะแนน [-5,+5] ไม่ใช่ช่วง [-3,+3] แบบที่ใช้ในโอลิมปิก 2018 (เคยเล่าไว้ในตอนที่ 2) แถมยังมีพาไปตะลุยรายการ Grand Prix ในประเทศไทยหรือ All-Japan Novice (รายการในประเทศเค้า) ให้คนอ่านซึมซับดูเป็นภาคๆ ไปอีกด้วย (แต่สมาคม JSF ในหนังสือการ์ตูนก็เลี่ยงเป็นคำว่า JFSF แทนน่ะนะ 5555) นอกเหนือจากเนื้อหาภาคเทคนิค ก็ยังเขียนเนื้อหาในความสนุกทางด้านกีฬาให้รู้สึกว่าชวนติดตาม กล่าวคือตัวละครมีมิติ และถึงตัวเอกจะมีพรสววรค์ที่เรียนรู้เร็วแม้จะเริ่มสเกตช้ากว่าใครเพื่อนแต่ก็ไม่ได้เก่งเทพขนาดที่ชนะคนอื่นได้ขาดลอยจนคนอ่านรู้สึกหมดสนุกไม่ลุ้นแบบนั้น จึงเป็นอีกทางเลือก สำหรับคนที่อยากตามเก็บสื่อบันเทิงประเภทมังงะ/อนิเมะ ในกีฬานี้เพิ่ม
อ่านจบครบสามตอนแล้วยังไงต่อ ?
เมื่อทุกคนอ่านจนครบตอนสามก็คงจับต้นชนปลายกีฬานี้และรู้ว่าเดือนไหนมีอะไรให้ดูกันบ้างแล้ว แนะนำสเตปต่อไปคร่าวๆ เพื่อยังไม่รู้จะไปยังไงต่อ
- ลองดูว่าเดือนที่อ่านตอนนี้จบ อยู่เดือนอะไร ตรงกับรายการสเกตไหนรึเปล่า แล้วรายการนั้นโฮสอยู่ใน Youtube ของ ISU มั้ย (เช่นตระกูล GP) หรือโฮสอยู่ที่เว็บอื่น (ตระกูล Challenger) จะได้ดูสดถูกที่
- ลองดูตารางแข่งที่อ้างอิงกับ Timezone เรา (ข้อ [1] ในหัวข้อแหล่งติดตามข่าวสารสเกต) ว่ามันเริ่มแข่งวันไหน เวลาไหน ถ้ายังไม่มีนักกีฬาหรือประเภทแข่งในใจ จะเริ่มจากประเภทเดี่ยวก่อนก็ได้เพราะเราไม่ได้พูดถึงประเภทคู่ในสามตอนนี้เท่าไหร่ ส่วนจะดูฝั่งชายรึหญิง ก็ลองสุ่มๆ ดูไปก่อนว่าชอบแนวไหน (รึจะดูมันทั้งคู่เลยก็ได้) เพราะสไตล์สเกตชายหญิงก็มีกลิ่นอายต่างกัน เช่นสเกตชายจะมีโดด Quad กันหลายคน ส่วนฝั่งหญิงโดด Quad นับคนได้เลย ถ้าไม่นับนักกีฬาหญิงรัสเซียน่ะนะ
- ดูไปสักพักก็อาจจะเริ่มมีนักกีฬาคนที่อยากตามขึ้นมาบ้างแล้ว ชอบสไตล์สเกตคนไหน เพลงที่เค้าใช้ อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้ว 5555 หรืออยากเริ่มขยับขยายไปดูประเภทคู่ ถึงเวลานั้น มันจะเริ่มค่อยๆ เริ่มซึมขึ้นมาเองล่ะ อย่างเราไม่ได้มีคนที่ตามหลัก ๆ เป็นเบอร์หนึ่งเบอร์สองเพราะรีไทร์กันไปแล้ว แต่ตอนนี้พอมีรายที่ตามเชียร์บ้าง ก็จะแวะไปดูรายการที่เค้าถูกจัดให้ไปแข่ง
จบกันจริง ๆ แล้วกับภาคจบไตรภาคบทความซีรีส์ Figure Skating 101 สำหรับคนดู ที่ตอนแรกคิดว่าไม่น่ามีตอนสามแฮะ แต่สุดท้ายก็งอกออกมาจนได้ในที่สุด ! 😂😂😂 ใครที่ตามอ่านมาตั้งแต่ช่วงที่เขียนปล่อยตอนแรกๆ หรือกระทั่งคนที่เพิ่งเข้ามาเจอตอนเขียนตอนที่ 3 พอดี ขอบคุณที่ตามอ่านมาจนจบ ณ ที่นี้
ยังจะมีตอนสี่มั้ย ? … ที่เขียนไปสามตอนนี่ก็ครอบคลุมไปเกือบทั้งหมดสำหรับเลเวลการเริ่มดูแล้วน่ะนะ 55555 มันจะเหลือรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ถ้าตามจริงจังมากขึ้น มันจะมีเพิ่มเข้ามาให้ซึมซับเพิ่มขึ้นในตอนนั้นเอง เอาเป็นว่าา ตอนนี้ครบถ้วนจริง ๆ แล้วววแต่ ๆๆ ในเว็บนี้ยังมีคลอดบทความใหม่อื่น ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ (แล้วแต่ไฟขยัน) นอกเหนือจาก Figure Skating เรายังมีบันทึกที่ไปดูแข่ง JGP ในไทยของจริง/รีวิวอนิเม/หนังสือ/โค้ดดิ้ง/คอนเสิร์ต/แนะนำเพลง เอ่อ ก็เขียนไปเรื่อย 5555 แวะมาดูสารบัญในนี้กันต่อได้นะ !
แล้วแวะมาทักทาย แลกเปลี่ยนเรื่องราวสเกตน้ำแข็งหมุนตัวติ้วๆ กันต่อได้ใน About Me จร้าาา
🖊 Author: GleeGM
🔎 Content Reviewer: Riko Rikarin
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
🐘 คัมแบ็คอีกครั้งกับรายการแข่งสเกต ISU Junior Grand Prix Bangkok 2024 (JGP 2024) ประสบการณ์ที่มากกว่าเดิม ! 🇹🇭
🎬 แนะนำซีรีส์/หนัง Figure Skating ดูเรื่องอะไรดีน้า?
⛸ Medalist ทอฝันบนลานสเกต มังงะฟิกเกอร์สเกตสายรางวัล รอคอยเซตติ้งแบบนี้มานานแล้ว !
🎬 รีวิว Ice Castles (2010) รีเมคหนังคลาสสิกไอซ์สเกตจากผู้กำกับเดิมที่ก้าวข้ามต้นฉบับไม่ได้
🛒 สั่งของ NBA Store บอกเล่าประสบการณ์แบบสั่งเองไม่ผ่านร้านหิ้วโดนไปกี่บาท?
🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 📺 รีวิว Anime อนิเมะ | 🪝 รวมมิตรรีวิวทุกประเภท All Reviews
References & Footages:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Short_program_(figure_skating)
- https://en.wikipedia.org/wiki/Free_skating
- https://en.wikipedia.org/wiki/Compulsory_figures
- https://isu-skating.com/figure-skating/events/isu-challenger-series
- https://current.isu.org/inside-isu/isu-communications/communications
- https://en.wikipedia.org/wiki/Figure_skating_competition
- https://current.isu.org/figure-skating/entries-results/standings
- https://isu-skating.com/figure-skating/events/isu-grand-prix
- https://isu-skating.com/figure-skating/events/isu-junior-grand-prix/
- https://www.isu.org/events
- https://www.youtube.com/watch?v=Trvw5SaBH64
- https://www.youtube.com/watch?v=mtnAJpwAKE4
- https://www.youtube.com/watch?v=WZIvjkN_0zY
figure skating season
figure skating season