คัมแบ็คอีกครั้งกับรายการแข่งสเกต ISU Junior Grand Prix Bangkok 2024 (JGP 2024) พร้อมประสบการณ์ที่มากกว่าเดิม !
isu jgp bangkok 2024
และแล้ววว ก็กลับมาสู่ฤดูกาลแข่งกีฬาสเกตน้ำแข็งอีกครั้ง จากที่ปีที่แล้วที่เราได้ไปดู Junior Grand Prix Bangkok (เรียกย่อๆ ว่า JGP Bangkok) ในฤดูกาล 2024 ไทยก็ได้เป็นหนึ่งในเจ้าภาพซีรีส์ Grand Prix ในการจัดแข่งรายการนี้อีกครั้ง สำหรับที่ว่าซีรีส์แข่งนี้คืออะไร สามารถไปอ่านคร่าวๆ ได้ในบล็อกนี้ตอนเราเขียนปีที่แล้ว
เมื่อครั้งนี้เค้าคัมแบ็คมาจัดที่ไทยเช่นเดิม และหนึ่งในนักกีฬาตัวตึงอย่าง Jia Shin นักกีฬาผู้คว้าเหรียญเงิน Youth Olympics 2024 ช่วงมกราต้นปีที่ผ่านมา ก็ถูกจัดให้มาแข่งที่ไทยอย่างไม่คาดคิดซะอีกด้วย ประกอบกับความไปไหนไปกันของผองเพื่อนที่นัดกันไปเช่นเดิม จับพลัดจับผลูเราจึงได้ไปดูรายการนี้อีกแล้วว 😂😂 โดยเลือกไปดูวันที่แข่งรายการเดิมนั่นคือ Women Free Skate
สารบัญ
ความแตกต่างของงานในปีนี้
ตั๋วเข้างานและราคา
รอบนี้ ทางสมาคมไม่ได้เปิดขายตั๋วออนไลน์ ไม่มีให้กรอก Google Forms เหมือนปีที่แล้ว แต่ประกาศขายตั๋วแบบ walk-in ต้องเดินไปซื้อเป็นใบๆ เองที่ลานไอซ์สำโรง ซึ่งสามารถซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยา ระยะเวลาในการขายตั๋วปีนี้ค่อนข้างกระชั้นหากเทียบกับปีที่แล้วที่ประกาศขายล่วงหน้าหนึ่งเดือน ในขณะที่งวดนี้ขายล่วงหน้าเพียงสิบวันนิดๆ แน่นอนว่าถ้าหากเรา ๆ จะไปวัดดวงหน้างานเลย ก็มีโอกาสสูงที่จะไม่มีตั๋วเหลือและไปแบบเสียเที่ยวกัน จึงต้องหาทางไปเอฟตั๋วกันตั้งแต่เนิ่นๆ ประจวบเหมาะแท้ที่พอจะมีคนที่สะดวกเป็นธุระไปซื้อให้ จึงได้บัตรมาครอบครอง งวดนี้มาเป็นบัตรกระดาษแข็งสีเหลืองอร่ามอบอวลด้วยกลิ่นน้ำหอมพร้อมโลโก้ใหม่ที่ปีนี้เป็นเรือสุพรรณหงส์ (ปีที่แล้วเป็นช้าง)
ราคาบัตรถูกกว่าปีที่แล้ว ปีก่อนหากดูเต็มวันต้องจ่าย 1,000 ถ้าครึ่งวันก็ 700.- แต่ปีนี้เป็นราคาเหมาวันเลยคือวันละ 800.- ไม่มีแบ่งครึ่งวัน
ที่นั่งอัฒจันทร์ที่มุมดีกว่าเดิม
ว่าแล้วก็สงสัยว่าทำไมรอบนี้การขายตั๋วถึงค่อนข้างจำกัด และทางลานไอซ์บอกว่าตั๋วมีน้อย เมื่อมาถึงสถานที่จริงก็ไม่ค่อยแปลกใจนักเมื่อเฉลยว่า โซนที่นั่งเดิมในแนวด้านยาวทั้งหมดนั้นถูกจัดสรรไว้สำหรับทีมของนักกีฬานั่ง (Team’s Seat) ส่วนแนวด้านกว้างเพียงฝั่งเดียวมีอัฒจันทร์ชั่วคราวตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งบริเวณนี้แหละที่ไว้สำหรับให้คนดูที่ซื้อตั๋วเข้ามา (Audience’s Seat) นั่นจึงทำให้ที่นั่งเหลือราว 1 ใน 3 จากปีที่แล้ว
เมื่อปีก่อน เราได้นั่งแถวหน้า ซึ่งมันมีความหน้าเกินไป มีมุมอับสายตาเยอะ ความรู้สึกคล้ายกับเวลาไปนั่งอยู่แถวหน้า ๆ ของโรงหนัง IMAX นั่นแหละ พอนักกีฬาสเกตมาใกล้ๆ ที เห็นแค่ลำตัวท่อนบน ต้องไปกระโดดห่าง ๆ หน่อยถึงจะเห็นเต็มตัว ถ้าไปสเกตสุดขอบลานก็แทบไม่เห็นตัวเลยต้องอาศัยมองจอเล็กๆ ด้านบนอีกที แล้วถ้ายิ่งนั่งบริเวณริมๆ ลานก็จะยิ่งปวดคอ เพราะตอนนักสเกตเคลื่อนตัวไปมารอบลานไอซ์ มันต้องบิดคอเยอะไปๆ มาๆ แทบต้องยืดเส้นยืดสายเป็นระยะๆ (ถ้านั่งแถวบนอาจจะสบายกว่าก็ได้ ฮา)
แต่ครั้งนี้เมื่อที่นั่งเปลี่ยนมาเป็นมุมฝั่งด้านกว้าง กลายเป็นว่าแค่เอาตัวจุ่มลงเก้าอี้ มองออกไปข้างหน้าก็เห็นลานทั้งหมดโดยแทบไม่ต้องขยับคอ มุมอับก็แทบไม่เหลือเลย ดูง่ายขึ้นมาก ไม่ปวดคอและเห็นแทบทุกอิริยาบถของนักสเกต จะมีแค่บางจังหวะที่นักสเกตทำท่าบางท่าที่มันเป็นมุมหันให้กรรมการเห็น เช่น Charlotte Spiral ที่ๆ นั่งฝั่งเราอาจจะดูไม่สวย แต่คนที่อยู่ฝั่งที่นั่งด้านยาวจะมองเห็นว่าทำท่าอะไร
เนื่องจากเป็นตั๋วที่ไม่ได้มีระบุที่นั่ง ทำให้ต้องใช้เวลาจัดสรรที่นั่งกันพักหนึ่งเพราะไปด้วยกันสี่คน ทำให้เหลือแต่ที่นั่งฟันหลอเป็นหย่อมๆ แต่พี่ๆ สตาฟช่วยเหลือดีมาก ไม่ให้ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง 5555 จนสุดท้ายก็จัดที่นั่งให้ได้สำเร็จจริงๆ 🙏🙏🙏🙏
และเมื่อปีนี้คุณพอจะรู้จักนักกีฬารุ่นจูเนียร์บ้างแล้ว (ปกติดูแต่รุ่น Senior ตอนปีที่แล้วเลยไปอย่างหัว blankๆ เพราะนอกจากนักกีฬาฝั่งไทย ก็ไม่รู้จักใครอีกเลย 5555) ปีนี้รู้จักทั้ง Jia Shin หรือน้อง Yo Takagi ที่ปีนี้น้องโยก็กลับมาแข่งที่ไทยอีกครั้ง นั่นจึงทำให้อรรถรสในการดูปีนี้อินขึ้นมากกก
อีกทั้งที่นั่งในครั้งนี้ที่ทำให้มองเห็นการสเกตของนักกีฬาได้ทั่วถึงขึ้น มุมอับสายตาก็หายไปเยอะ ประสบการณ์ในการดูจึงต่างจากปีที่แล้วพอสมควร และสัมผัสได้จริงๆ ว่าการดูผ่านไลฟ์ที่บ้านแบบ 2D กับการมาดูรายการสดๆ ตัวเป็นๆ นี่ต่างกันเยอะ เช่นการกระโดด หากใครได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น Medalist(รีวิวคลิก) เค้าจะเล่าว่านักกีฬาเวลาทำการจัมพ์จะมีจุดเด่นคือ ไม่กระโดดไกลก็กระโดดสูง ซึ่งเวลาดูตามคลิป มันก็พอรู้แหละว่านี่คือสูงนี่คือไกล แต่พอมาดูของจริง ตอนได้เห็นนักกีฬากระโดดจัมพ์แล้วสูงขึ้นมากว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด หรือลอยไปลงพื้นซะไกลจากจุดกระโดดตอนแรกนี่ก็ถือกับร้องซี้ดไปตามๆ กัน เพราะมันไกลจริง !! 555555 ไกลระดับที่ว่าดูการสเกตแบบ 2D แล้วไม่รู้สึกขนลุกเท่าดูของจริง
นอกนั้นก็มีบรรยากาศในฝั่งคนดูที่เห็นแล้วชวนให้เห็นภาพซ้อนตัวเอง บ้างก็เปิดเว็บสกอร์ ISU สีสายรุ้งสดๆ เพื่อดูว่าคนนี้แข่งได้คะแนนเท่าไหร่ ถึงคิวนักกีฬาคนไหนแล้ว บ้างก็เปิด Livestream บน Youtube มันสดๆ ตรงนั้นแหละ รึจะเป็นช่วงประกาศคะแนนที่คนดูหยิบกล้องขึ้นมาเพื่อซูมจอที่อยู่อีกฝาก เพราะจอมันเล็กจิ๊งงงมองไม่เห็น 55555
เทศกาลโยนตุ๊กตา (ที่โยนกระหน่ำกว่าเดิม !)
รู้สึกว่าปีนี้ เจ้าฝูงตุ๊กตามันเยอะกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดขึ้นมาเลยนะ ฮาา รอบก่อนเหมือนจะโยนมาจากทีมนักกีฬาด้วยกันเองกับจากคนดูบ้างประปราย รอบนี้ตุ๊กตามีความหลากหลายขึ้น มาทั้งตัวเล็กตัวจ้อย ตัวใหญ่ ฝั่งคนดูเตรียมคลังแสงตุ๊กตากันอย่างจริงจัง มาเป็นถุงๆ และควักออกมาโยนได้เรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบประหนึ่งว่าถุงนี้คือหลุมดำมหัศจรรย์ 55555 แถมปีนี้มีน้องตัวจิ๋วเข้ามาช่วยเก็บตุ๊กตาตอนนักกีฬาสเกตจบด้วยนะเอ้อออ (ปีที่แล้วถ้านักสเกตมองไม่เห็นตุ๊กตา เผลอเดินออกไปแล้ว คนจะช่วยกันชี้ว่ามันมีของน้า แล้วนักสเกตก็ต้องแวะกลับเข้ามาเอาอีกที)
งวดก่อนโยนตุ๊กตาหมาหงอยไป งวดนี้เลยตีโจทย์อยากให้อะไรปั่นๆ แบบไทยสไตล์ ก็เลยไปเฟ้นหาจนได้ตุ๊กตาพิมพ์ลายมาตัวนึงที่ พอถ่ายรูปด้วยแล้วมันเหมือนของจริงชะมัด 55555 แต่ก็กลัวนักกีฬาไม่รู้จักว่ามันคืออะไรเลยเขียนโน๊ตบอกใบ้ติดไว้นิดนึง 55555
ดนตรีที่เราไบแอสในวันนี้
ครั้งนี้ดวงตุ๊กตาไปลงที่น้องจีอา ซึ่งฤดูกาลนี้ น้องเลือกสเกตเพลง Adios Nonino ในวัน SP (ที่คนบอกว่าคอสตูมนี่คงสปาร์คจอยมาจากคอสตูม Yuna Kim ตอนที่เคยสเกตเพลงนี้เหมือนกันแน่ๆ) และเพลงบัลเล่ต์ชุด Daphnis et Chole ในวัน FS ซึ่งแต่งโดย Maurice Ravel หนึ่งนักประพันธ์ที่แฟนสเกตน้ำแข็งจะรู้จักเค้าในเพลงฮิตตลอดกาลประจำวงการกีฬานี้อย่าง Bolero ซะมากกว่า (เป็นเพลงที่นักกีฬาสเกตเพลงนี้บ่อยจัดจนคนดูแซวว่า ไม่เอาเพลงนี้มาแข่งแล้วได้มั้ย 😂😂)
ปีที่แล้ว เรามีความแรนด้อมไปได้ยินเพลง Daphis โดยบังเอิญจากการแนะนำของ Spotify (รึ Youtube ก็ไม่รู้) โดยแทร็คที่ระบบแนะนำมาให้คือเพลง Lever du jour ความยาวหกนาทีครึ่งซึ่งสำหรับเรามองว่ามันเป็นเพลงหมัดเด็ดที่สุดของบัลเล่ต์ชุดนี้เลย จ้อจี้ฟังไปจนจบเสร็จ กลายเป็นว่าติดงอมแงมแล้วยังตามฟังเรื่อยๆ เช้ยยย แล้วก็นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าจะมีคนหยิบเพลงชุดนี้มาสเกต มันโอกาสหายากมากๆ ไง อะไรมันจะบังเอิญที่เราเพิ่งรู้จักเพลงนี้ไปปีที่แล้ว แล้วจู่ๆ ก็มีคนหยิบเพลงนี้มาสเกตเลยนะ ยิ่งมันไม่ใช่เพลงฮิตอันดับต้นๆของวงการนี้ด้วย 5555 (เพลงฮิตวงการสเกต เช่น Carmen, Romeo & Juliet, Moulin Rouge, Turandot, Phantom of the Opera, Swan Lake)
แค่ชอยส์เพลงก็ชวนได้โบนัสโบใจไปขนาดนี้ แถมเปิดโปรแกรมมาก็ดั๊นนนหยิบแทร็คนี้ขึ้นมาเป็นแทร็คเปิดโปรแกรมอีก (จากที่มีให้เลือกเป็นสิบเพลง) อื้อหืมม เสียงอินโทรฟลูตกับพิณดังกระเพื่อมขึ้นมาซะขนลุกซู่ขนาดนี้แล้ววว ซื้อใจเราไปเต็มๆ 🤣🤣🤣🤣 ทว่ารายการนี้ทรงจีอายังไม่นิ่งเท่าไหร่ มีจังหวะที่พลาดจึงไม่ได้ติดโพเดียม รอดูฟอร์มน้องในรายการต่อๆ ไป สำหรับโปรแกรมที่จีอาแข่งของวันนี้กับเพลง Daphnis et Chloe มีให้ดูในคลิปนี้
Performance นักสเกตอันดับ 1-3
Mei Okada — เหรียญทองแดง สเกตในเพลง Soundtrack Maleficent ปิดท้ายด้วย Theme Song ของหนังอย่าง You Can’t Stop The Girl ที่ร้องโดย Bebe Rexha
Yo Takagi — เหรียญเงิน หลังจากที่ปีที่แล้วน้องได้ที่ 4 ปีนี้ฟอร์มน้องนิ่งมาตั้งกะวัน SP โดยสเกตในเพลงของโชแปงที่มีการรีมิกซ์เพลงให้ดูโมเดิร์นขึ้นในช่วงกลางโปรแกรม น้องมีโมเมนต์ที่ทำให้คนดูเหวอเยอะมาก ไม่ว่าจะช่วงกระโดดไกลที่เล่าไปข้างบน ว่าน้องกระโดดไกลจี๊งงง (1:11-1:14) จนเพื่อนยังต้องร้องโหหหห หรือจะเป็นช่วง Spiral ในตอนท้ายโปรแกรม (3:21-3:31) ที่ควบคุมทิศทางสเกตได้นิ่ง (แถมเอียงรองเท้าได้ลึกจัด !) จนคนดูร้องในสนามถึงกับต้องร้องหูวววว ส่วนนี่กับเพื่อนคือนั่งอึ้งไปเรียบร้อย 5555555 นี่มันการท้าทายกฎฟิสิกส์ !!
Yihan Wang — เหรียญทอง ในฤดูกาลก่อน น้องไม่ติดโพเดียมสักรายการ แต่ฤดูกาลนี้ฟอร์มแรงเข้าที่หนึ่งตั้งแต่วัน SP และยังรักษาความนิ่งได้ในวันนี้ เรียกได้ว่าสะกดทุกสายตาในขณะนั้น ไม่ว่าจะการสเกตที่เข้ากับจังหวะดนตรีในโปรแกรม โดยในองค์รวมมันช่างลงตัวไปหมด ซึ่งน้องสเกตเพลง Soundtrack ภาพยนตร์ The Grandmaster
ทักทายนักสเกต
หลังจากอีเวนท์จบลง เหล่าแฟนๆ ก็รอจังหวะนี้ที่อาจจะได้มีโอกาสทักทายกับนักสเกต (หากเค้าสะดวก) ซึ่งปีนี้ก็ได้พบปะไปสามราย
น้องโยเจ้าเก่า ที่ครั้งที่แล้ว นักกีฬากับคนดูทยอยกลับเกือบหมดแล้ว แต่น้องยังไม่กลับแล้วยืนเก็บข้าวเก็บของอยู่ตรงที่นั่ง น้องเลยมองไม่เห็นพวกเรา แม่เรียกว่ามีคนอยากถ่ายอยู่นะ น้องเลยหันขวับมามอง พอเห็นเราๆยืนอยู่นั่นแหละ ก็ดีใจเดินดึ๋งๆ ลงมาจากอัฒจันทร์ 5555 ส่วนปีนี้น้องยืนอยู่แถวๆ ซุ้มที่ต้องให้สื่อสัมภาษณ์(เพราะปีนี้ติดโพเดียมกับเค้าแล้ว) ซึ่งซุ้มก็อยู่ข้าง ๆ อัฒจันทร์ชั่วคราวนั่นแหละ ช่วงที่น้องว่างจากจังหวะชุลมุนพอดี น้องก็บังเอิ๊นนฟันมาสบตามาทางฝั่งพวกเราที่ยืนอยู่ข้างบนอัฒจันทร์ ระยะห่างมันใกล้นะแต่มันลงไปข้างล่างไม่ได้เพราะคนเยอะ เลยยืนคุยกันแบบนั้นแหละ นี่เลยเอารูปให้ดูว่ารอบที่แล้วก็ถ่ายด้วยกันนะ (รอบนี้ซ้อมโพยท่องประโยคญี่ปุ่นมาอย่างดี 5555) พอน้องเห็นรูปก็ยิ้มอย่างเบิกบาน(อีกครั้ง) 55555 แล้วก็ชวนว่ามาถ่ายรูปกันมั้ย น้องก็พยักหน้าอย่างชื่นมื่น แล้วก็ถ่ายรูปด้วย ส่วนทางเพื่อนก็เตรียมของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปยื่นให้น้องโย ถือเป็นโมเมนต์น่ารักกรุบกริบๆ
จากนั้นก็แวะไปหาโค้ช Brian Orser นักกีฬาดีกรีโอลิมปิก สเกตแข่งช่วงปลาย 70s-80s ก่อนจะผันมาเป็นโค้ชยาวๆ ซึ่งแกได้โค้ชให้นักกีฬาโอลิมปิกตัวท็อปจำนวนมากไม่ว่าจะ Yuzuru Hanyu, Yuna Kim, Javier Fernández ฯลฯ โดยในฤดูกาลล่าสุดนี่ จีอาเองก็เปลี่ยนมาโค้ชกับไบรอันด้วย และไบรอันก็เป็นโค้ชให้กับนักกีฬาคนอื่นๆ อีกหลายคนในรายการวันนี้ จริงๆ ปีที่แล้วไบรอันแกก็มานะ แต่มาในฐานะโค้ชฝั่งผู้ชาย เราจึงไม่ได้เจอเค้า ระหว่างรอถ่ายรูปอยู่ สักพักเซอร์ไพรส์เฉย เพราะตอนแรกกะจะถ่ายกับแค่ไบรอัน แต่จู่ๆ จีอาก็เดินออกมาจากห้องพักนักกีฬา เอ๊า 55555 เลยกลายเป็นว่าได้โอกาสถ่ายทั้งกับจีอาและไบรอัน และพูดคุยทักทายนิดๆ หน่อยๆ ตามจังหวะในขณะนั้น น้องจีอาก็ เน่ เน่ (ค่ะ ค่ะ) ให้ ไอ้เราตอนนั้นพูดเกาหลีแล้วเค้าฟังรู้เรื่องมั้ยก็ไม่รู้ คืนครูไปเยอะแล้ว 55555
ว่าแล้วก็ได้ลายเซ็นไบรอันติดไม้ติดมือกลับมาด้วย ตอนแรกก็ไม่ได้นึกถึงลายเซ็น แต่เห็นคนทักว่าเซ็นดีมั้ย แล้วตอนนั้นเดินไปอย่างตัวเปล่ากับมือถือด้วยไง 5555 ไร้ซึ่งกระดาษและปากกา เดินวกไปวนมาเพื่อไปหยิบเครื่องเขียนต่างๆ แล้วก็สรุปความได้ว่า ก็ให้เค้าเซ็นบัตรกระดาษแข็งที่ติดตัวไว้ก็ได้นี่หน่า 55555 ส่วนเพื่อนอีกคนเตรียมสมุดไว้อย่างดีแล้วแวะไปให้น้องจีอาเซ็นให้
จบกันไปแล้วกับรายการสเกต JGP 2024 ในปีนี้ ปีหน้าทางสมาคมจะเวียนไปจัดที่ประเทศไหนบ้าง ต้องรอดูกันต่อไป ถึงตอนนั้นถ้ากลับมาจัดที่ไทยอีกครั้ง แล้วเราจะยังว่างไปดูหรือไม่ ก็คงได้รู้ตอนเราคลอดบล็อกตัวที่สามขึ้นมาเพิ่มล่ะนะ 55555 ว่าแล้วก็ tie-in บทความสเกตในอดีตที่เคยเขียนไว้สักหน่อย
บทความซีรีส์ Figure Skating 101 สำหรับคนดู (ตอนนี้มี 2 ตอน)
สำหรับผู้ที่อยากเข้าใจพื้นฐานสเกตที่ช่วยให้คนดูสเกตแบบไม่งง หากคุณเพิ่งเข้าวงการนี้มา (ใจก็อยากเขียนตอน 3 เพิ่ม แต่อู้มานานแล้วสิเนี่ย 55555) เราขอนำเสนอ [Figure Skating 101 สำหรับคนดู] ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า Figure Skating ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด ! …มั้ง
⛸ [ตอนที่ 1] มาแยกท่า Jump ใน Figure Skating กันเถอะ ฉบับเทคนิคน้อย
⛸ [ตอนที่ 2] มาอ่าน ใบคะแนน ของ Figure Skating กันเถอะ ฉบับเลขน้อย (น้อยจริงๆ !)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
⛸ แนะนำซีรีส์/หนัง Figure Skating ดูเรื่องอะไรดีน้า?
⛸ ฉันที่เกือบอายุ 30 ในที่สุดก็เจอ “หนังในดวงใจ” กับ Ice Castles (1978) สักที
⛸ Medalist มังงะฟิกเกอร์สเก็ตเรื่องล่าสุดแห่งปี 2020 รอคอยเซตติ้งแบบนี้มานานแล้ว !
⛸ บล็อกหัวข้อ Figure Skating ทั่วไป https://gleegmjournal.com/category/sport/figure-skating-all/
🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิว Book หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 🎬 รีวิว Film Series หนัง ซีรีส์
📊 Data Analytics – Tech | สารพันวงการ Data และเรื่อง Techๆ | 🪴 สารบัญรีวิวทุกประเภท All Reviews
isu jgp bangkok 2024