รีวิว อนิเม Tsuki to Laika to Nosferatu ส่งคนไปอวกาศมันธรรมดาไป ส่งแวมไพร์ไปดีกว่า

Tsuki to Laika to Nosferatu visual key
ปกทางการของอนิเมะ Tsuki to Laika to Nosferatu
หรืออีกชื่อ Irina: The Vampire Cosmonaut

🚀 รีวิว อนิเม Tsuki to Laika to Nosferatu

ตามประวัติศาสตร์โลก มนุษย์คนแรกที่ได้ไปสัมผัสอวกาศคือชาวรัสเซีย ยูริ กาการิน นั่นเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็คงเคยเรียนผ่านหนังสือเรียนกันมาทั้งนั้น ก่อนหน้านั้นมนุษย์ได้ส่งเจ้าสุนัข ไลก้า ให้ออกไปลองเชิงก่อน แต่จะเป็นอย่างไรล่ะถ้าในโลกนี้ ก่อนที่มนุษย์จะได้เดินทางสู่อวกาศสำเร็จ เราลองส่งแวมไพร์สาวขึ้นไปสำรวจก่อนมนุษย์ !

กลับมาอีกครั้งกับการรีวิวอนิเมะที่เราได้ห่างหายจากการเขียนไปนาน เรื่องนี้เราดูจบไปตั้งแต่พฤษภาคมแล้วแต่เพิ่งจะได้มีเวลาเกลี่ยบทความให้เป็นรูปเป็นร่าง ในระหว่างที่ Tsuki to Laika to Nosferatu ออกฉาย กระแสของพระนางคู่นี้ไต่อันดับผลโหวตได้ค่อนข้างดีใช้ได้ประกอบกับกระแสหลังจบที่ไม่ได้มีคนสาปส่งผลงานแต่อย่างใดรวมไปถึงเป็นผลงานดัดแปลงจาก Light Novel ซึ่งนั่นน่าจะพอทำให้เหล่าคนดูเบาใจว่าอย่างน้อยเนื้อเรื่องคงไม่ได้มีด้นสดและมีโอกาสตกม้าตายน้อยกว่าผลงาน Original เรื่องอื่นๆ

เนื้อเรื่องย่อ

Tsuki to Laika to Nosferatu review
จู่ ๆ ก็ต้องมาเป็นบัดดี้ให้แวมไพร์ซะนี่

ในช่วงสงครามเย็น สองประเทศมหาอำนาจอย่าง สาธารณรัฐ Zirnitra และสหราชอาณาจักร Arnak (ที่มองจากดาวพฤหัสก็ดูออกว่าอ้างอิงจากรัสเซียและอังกฤษ) ได้แข่งขันความก้าวหน้าทางวิทยาการวิทยาศาสตร์ เป้าหมายอันสูงสุดคือการได้ส่งมนุษย์ออกไปอวกาศ ผู้ใดที่สำรวจอวกาศได้สำเร็จก่อนจะนำพาชัยชนะ ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีมาให้ประเทศนั้นๆ แม้ว่า Zirnitra จะส่งสุนัขขึ้นไปสำเร็จแต่พวกเค้าตระหนักได้ว่าตามชีววิทยาแล้วนั้น กายภาพสุนัขไม่ได้เหมือนมนุษย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเมื่อมนุษย์บินขึ้นไปแล้วพวกเค้าจะปลอดภัยดี พวกเค้าจึงได้นำปีศาจดูดเลือดสาว อิริน่า ลูมิเนสก์ (Irina Luminesk พากย์โดยตัวแม่ Megumi Hayashibara!) ผู้สมัครใจในภาคกิจเสี่ยงตายแต่จงเกลียดจงชังมนุษย์ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเธอมารับภารกิจทดสอบนำร่อง(ฟังๆ ดูน่าสงสารแฮะ) เพื่อการันตีว่าต้องสำเร็จให้ได้ ทหารชั้นแนวหน้า เลฟ เลฟส์ (Lev Leps) ถูกเบื้องบนจับพลัดจับพลูให้มาทำหน้าที่เป็นบัดดี้คอยช่วยเหลืออิริน่า ให้เธอสามารถผ่านโปรแกรมฝึกตนเป็นนักบินเตรียมออกสู่นอกโลก รัฐ Zirnitra จะทำภารกิจนี้ได้สำเร็จหรือไม่ แวมไพร์ผู้ปิดใจให้กับมนุษย์บัดดี้ของเธอจะทำให้ภารกิจเดินหน้าไปได้ลำบากกว่าเดิมหรือเปล่า ไม่ว่าอย่างไรทั้งอิริน่าและเลฟต่างมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การไปสัมผัสกับอวกาศ



ความรู้สึกหลังดูจบ

ดูจบแล้วบอกได้เลยว่าเรื่องนี้กลางไปหมดทุกด้านจริงๆ เนื้อเรื่องพอดูได้ดูดีกึ่งๆ ตามสูตรไปหน่อย แม้ไม่ขี้เหร่มากแต่ก็ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรจนต้องบอกต่อ เนื้อเรื่องรวมๆ คือการดูชีวิตอิริน่าฝึกตนในการซ้อมภาคสนามต่างๆ ความเข้มข้นแข่งขันทางการเมืองระหว่าง 2 ประเทศไม่ได้ถูกพูดถึงมาก นอกจากมีการลักพาตัว ความบาดหมางของสองฝั่งที่ถูกพูดถึงบ้างเล็กๆน้อยๆเป็นน้ำจิ้ม ปมเข้มข้นบางอย่างถูกเล่าและสะสางได้อย่างเทียวมาเทียวไป ทั้งๆ ที่หากขยี้มันสักหน่อยมันจะทำให้เนื้อเรื่องมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่านี้ งานภาพเองไม่มีฉากที่โดดเด่น ซึ่งดูทรงเนื้อเรื่องเน้นน้ำหนักไปที่การปั้นเคมีระหว่างอิริน่าและเลฟเสียมากกว่า อิริน่าผู้มีนิสัยปากไม่ตรงกับใจ เก๊กๆ ตามประสาตัวละครอนิเมะสายซึนและพระเอกของเราค่อนข้างจะเป็นคนที่ไนซ์มากๆ ไม่ได้รังเกียจอิริน่าในขณะที่มนุษย์คนอื่นรอบตัวจงเกลียดจงชัง ไหนจะมนุษย์ในเนื้อเรื่องมีภาพจำว่าแวมไพร์เป็นสิ่งมีชีวิตน่าขยะแขยงที่กินเลือดเป็นอาจิณ (ในความเป็นจริงอิริน่าบอกว่าพวกเธอสามารถกินของทดแทนได้เช่น เลือดแพะ และการแพ้แสงมันไม่ถึงกับโดนแสงแล้วตัวสลายไปเหมือนในหนังแต่แค่ระคายเคืองผิวบ้าง)

Tsuki to Laika to Nosferatu review
ความสัมพันธ์ของเลฟและอิริน่าที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น

ช่วง 10 ตอนแรก เราทยอยเห็นความพัฒนาการของตัวละคร ความสัมพันธ์ของเลฟและกับอิริน่าที่ค่อย ๆ เข้าหากันจากที่ตอนแรก ๆ เธอดูปลีกตัวจนหลัง ๆ เริ่มเปิดใจและเผยมุมน่ารักๆ ออกมา ถือเป็นโมเมนต์น่ารัก ๆ ที่ดูอบอุ่นฮีลลิ่งหัวใจได้ดี เนื้อเรื่องบางส่วนมีการสอดแทรกสภาพสังคมในยุคนั้นซึ่งมันก็คือสภาพแวดล้อมที่มีความชายเป็นใหญ่ พฤติกรรมการกดขี่ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ลงประเด็นลึกเท่าใดนัก คงจะด้วยความที่ว่าจุดประสงค์ของเรื่องดูไม่ได้ต้องการที่จะเล่นประเด็นตรงนี้มากนักแต่มันก็เป็นจุดเสียดายที่หากได้นำประเด็นเหล่านี้มาใช้จะทำได้เรื่องนี้มีจุดให้เล่าได้เยอะกว่านี้ ในส่วนนี้ขอพูดถึงแค่อนิเมะเพราะเราไม่รู้ว่าต้นฉบับนิยายเขียนเน้นไปในทางไหน ทางค่ายอาจปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนก็เป็นได้

จุดตะขิดตะขวงใจบางจุดที่เราอาจจะคิดไปเองคือมันมีมุมกล้องบางมุมที่ดูแล้วรู้สึกไม่จำเป็นต้องใช้มุมกล้องแบบนั้นก็ได้นะ 😑 ถ้าผู้อ่านไปชมแล้วรู้สึกเหมือนเราก็ตามนั้นแหละ



งานภาพ งานอนิเมท

Tsuki to Laika to Nosferatu screenshot
งานภาพในซีนอารมณ์ต่างๆ ที่โดนฉุดลง

พูดถึงงานภาพ ดูออกเลยว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีงบน้อย มันเป็นงานโปรดักชั่นระดับ B กลาง ๆ มายัน C ภาพไม่ได้สวยวิ๊งวับเพลินตา มันแค่พอถูไถ หลาย ๆ ฉากมีการใช้ท้องฟ้า, อวกาศ, ดาวตก ตามคอนเซปต์เรื่อง รวมไปถึงซีนอารมณ์พีคๆ แต่เนื่องด้วยงานภาพระดับกลางมันเลยไม่สามารถผลักดันคนดูให้รู้สึกอิ่มเอม อมยิ้มตามตัวละครไปได้ขนาดนั้น แทนที่เราจะได้รู้สึกฉากนี้มันว้าวนะแต่กลายเป็นว่ารู้สึกเฉย ๆ แทนเฉย ถือเป็นจุดอ่อนของเรื่องเลยก็ว่าได้ แต่เราไม่แปลกใจเท่าใดนักสำหรับงานค่าย Arvo ที่ผลงานในพอร์ตของเค้าก็ไม่ได้เด่นในเรื่องงานภาพเท่าไหร่

Tsuki to Laika to Nosferatu screenshot
จิบไวน์ฟังเพลงในบาร์แจ๊สกันดีกว่า

งานเพลงร้องและดนตรีประกอบ (OST)

แม้จะเล่าไปว่าทุกอย่างมันกลางทั้งหมด แต่แลจะมีงานเพลงนี้แหละที่ทำออกมาได้โดดเด่นกว่าใครเพื่อนเลย ถ้าเอาทุกหัวข้อมันเรียงกัน เจ้างานเพลงเนี่ยทำคะแนนได้ดีที่สุด เซอร์ไพรส์อย่างแรกคือ Ali Project มาร้อง Opening ! หลังจากที่หายหน้าหายตาไปนาน เซอร์ไพรส์อย่างสองคืองานดนตรีประกอบ เราไปไล่ฟังเพลงทั้งอัลบั้ม OST เพลงประกอบเรื่องนี้ถูกประพันธ์โดย Yasunori Mitsuda ที่แกไปดังกับการทำเพลงให้เกมมากกว่าเช่น Chrono Cross, Xenogears ค่อนข้างแปลกใจที่สำหรับงานอนิเมะระดับกลางนี้ได้ดึงเค้ามาทำเลย ตัวดนตรีในเรื่องมีกลิ่นอายแนวฟุ้งๆ แฟรี่ ต้องมนต์ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในแดนเทพนิยาย บางครั้งสลับกับไปใช้ดนตรีแนวแจ๊สผสมกันสร้างความละมุนละม่อมให้กับคนฟัง พอฟังตัวอัลบั้มแบบรวม ๆ ทั้งหมด ถือว่าฟังเพลินทีเดียว มีบางแทร็คที่ผสมความตลกโปกฮาหรือความระทึกขวัญมาบ้างเพื่อทำมาใส่ในสถานการณ์ที่จำเป็นนั้นๆ

Track ที่ชอบ
  1. Tansan Lemon 炭酸レモン (เพลงที่ 13 แผ่น 1) ไม่พูดมากเจ็บคอ ช่วงไคลแมกซ์ตั้งแต่ 1:38 ฟังแล้วหูทองตาเป็นประกายทะลุจักรวาล ! …ขนาดนั้นเลยนะ
  2. Mukashibanashi 昔話 (เพลงที่ 13 แผ่น 2) กลิ่นอาย Jazz Bar เพลินๆ
  3. Yume no Ato 夢のあと (เพลงที่ 22 แผ่น 2) ฟังดีๆ มีเสี้ยวเมโลดี้เหมือน Tansan Lemon นี่นาแต่เป็นอีกมิกซ์ที่เอาเปียโนมาสร้างความแพรวพราวในพื้นหลัง

ฟังเพลง Original Soundtrack ทำลิสต์โดย AniPlaylist



Tsuki to Laika to Nosferatu screenshot
ต่างเผ่าพันธุ์แต่มีความฝันเดียวกัน

คะแนน (6/10)

สรุป รีวิว Tsuki to Laika to Nosferatu

อนิเมะเรื่องนี้มีความปานกลางไปทั้งหมดทุกด้าน เป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้มีงบทุนสูงมาก งานภาพที่ดรอปลงจนทำให้ซีนอารมณ์นั้นบิ๊วอารมณ์ไม่ขึ้น เนื้อเรื่องโทนเบาๆ ค่อนข้างตามสูตร คาดเดาง่าย ประเด็นทางสังคมอาจไม่ได้โดนขยี้อะไรชัดเจนมากนักแต่เน้นไปที่พัฒนาการตัวละครระหว่างสองตัวละครหลักชายหญิง ดูแล้วค่อนข้างเยียวยาหัวใจ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์โลกค่อนข้างตึงเครียดและยากลำบากสำหรับใครหลายๆ คน การที่ได้ดูอนิเมะสักเรื่องนึงในโทนฮีลลิ่ง ไม่ต้องคิดมากก็คงเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน ดนตรีทำได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่คาดหวังไว้ ดีจนงงจับใส่ My favorite playlist เลย หากคุณไม่ซีเรียสและอยากดูงานสายเบา ๆ หน่อย หยิบเรื่องนี้มาดูได้

ดูเรื่องนี้ได้จากไหน ?

ดูฟรีได้บน bilibili.tv


บทความรีวิวอื่นๆ

🔑 9 (2+7) เพลง อนิเมะที่ดนตรีแปลกในวงการ Anisong แถมติดหูอีกต่างหาก

🔑 รีวิว อนิเม Wonder Egg Priority คอนเซปต์สภาวะจิตอันทะเยอทะยานท้าทายที่สุดท้ายก็ล้มไม่ลุก

🔑 Kageki Shoujo!! รีวิว อนิเม เมื่อสาวไอดอล 48 อยากผันมาเล่นละครเวที

🔑 ติดตามรีวิวอนิเมะอื่น ๆ ได้ใน https://gleegmjournal.com/category/pop-culture/anime/

🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี

🔑 Find me in: Anilist | MyAnimeList

Loading

GleeGM

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...