Cowboy Bebop รีวิว อนิเมะคาวบอยอวกาศแจ๊ซซี่ที่คนดูสายเสพเนื้อเรื่องจบในตอนน่าจะชอบ

cowbow bebop cover
ใบปิด Cowboy Bebop

รีวิว Cowboy Bebop

อนิเมะที่กำลังจะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เหตุเกิดจากซีรีส์คนแสดง Live Action ที่กำลังจะฉายบนสตรีมมิ่งของ Netflix ในวันที่ 19 พ.ย. 2021 นี้ นั่นคืออนิเมะกลุ่มผู้ใหญ่ คาวบอยอวกาศบรรยากาศสุดแสนแจ๊สอย่าง “Cowboy Bebop” ผลงานกำกับของ Shinichiro Watanabe ที่เคยกำกับผลงานเด่น ๆ อย่าง Carole & Tuesday, Space Dandy, Macross Plus, Zankyou no Terror มาแล้ว

เราเคยดูอนิเมะเรื่องนี้สมัยเด็กๆ เป็นพากย์อิ้งซับไทยบนช่อง Animax (หรือ Axn นะ? จำไม่ได้ แฮ่ 🤪) จาน UBC ด้วย เก่าจัด ! 🤣 ตอนนั้นเคยดูผ่านๆ เอาล่ะนะ ไม่ได้ตามมันทุกตอน เอาจริงดูไม่ค่อยรู้เรื่องพอตัว ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวละครเป็นใคร งงไปหมด ! การเดินเรื่องก็ดูเอื่อย ๆ ไม่ค่อยจะน่าตื่นเต้นเหมือนอนิเมะสายหลักตัวอื่นๆ ที่เคยดูในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเช่น Rave Master หรือลูกมังกรหยก (Legend of Condor Hero) เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ถ้ากดเจอในเคเบิ้ลตอนนั้นเราจะกดข้ามเสมอ ถ้ามันฉายตอนนั้นก็คือไม่ดู หนีไปดูช่องอื่น UBC Kids, Cartoon Network อะไรก็ว่าไป (แหมมม่ 55555)

ไทม์สคิป เริ่มโตแล้วเราเริ่มไล่เก็บอนิเมะตามลิสต์อนิเมะน้ำดีตลอดกาลมาเรื่อยๆ เรื่องนี้เองก็ติดโผเหมือนกัน ว่าแล้วมันต้องได้ดูจนได้ สุดท้ายเลยได้ไล่ดูเรื่องนี้ครบ 26 ตอนในช่วงปี 2019 ว่าแล้วว่ามันสนุกมั้ย การเดินเรื่องเป็นยังไง แนะนำให้คนอื่นๆ ไปดูกันต่อรึเปล่า ไปดูรีวิวกัน !

หากย่อหน้าไหนมีสปอยจะทำการไฮไลท์ย่อหน้านั้นให้เป็นสีแดง

cowbow bebop รีวิว review screenshot
4 ตัวละครหลัก (5 มั้ย?) —ลูกเรือยาน Bebop

เนื้อเรื่องย่อ

ในโลกอนาคตที่ผู้คนอพยพจากดาวโลกที่อาศัยอยู่ไม่ได้แล้ว มายังดาวเคราะห์ต่างๆ สังคมได้สร้างกฎระเบียบเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยตำรวจระบบสุริยะ(Inter Solar System Police) พวกเค้าได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มนักล่าค่าหัวฟรีแลนซ์ที่เรียกกันว่า “คาวบอย” เพื่อช่วยเก็บกวาดพวกนอกรีตอีกทาง โดยตัวเอกคาวบอยของเรา Spike Spiegel (สไปค์ สปีเกล)และ Jet Black (เจ็ท แบล็ค) สองนักล่าหัวผู้มียานเหาะคู่ใจ Bebop (บีบ๊อพ) ได้ตะลอนเดินทางเพื่อล่าค่าหัวตามใบประกาศจับไปเรื่อย ทว่าอดีตของสไปค์ก็ยังคงตามมาหลอกหลอนเขาทีละเล็กทีละน้อย

cowbow bebop screenshot edward ein
เอ็ดและไอน์

ความรู้สึกหลังดูจบ

มันคืออนิเมะสไตล์ episodic (จบในตอน) กล่าวคือต้นตอนมีการปูพื้นว่าเคสที่แกงค์สไปค์ไปรับมา ต้องล่าหัวใคร คู่กรณีมีฝีมือแค่ไหน ไปจนถึงการสืบสวน/ตามล่า/ฉากบู๊ และปิดฉากจบเคส ในบางครั้งก็ปิดท้ายเป็นปรัชญา/ความเข้าใจชีวิต ซึ่งในระหว่างเรื่องสไปค์ค่อย ๆ พานพบผู้คนใหม่ ๆ สะสมพรรคพวกเข้ามาได้เพิ่มยังกะ One Piece 555 ไม่ว่าจะหมาคอร์กี้(ห๊ะ!?) ต้าวน้อง Ein (ไอน์) สาวน้อยหนี้เยอะ Faye Valentine (เฟย์ วาเลนไทน์) ที่ไม่รู้หนี้เยอะมาจากไหนเยอะแยะ (จะมีเล่าในเรื่อง) แฮคเกอร์ลุคแสนเด๋อแต่ฝีมือแพรวพราว Edward Wong แค่นั้นยังไม่พอ เส้นเรื่องผิว ๆ คือการล่าค่าหัวทำงานหาเงินไปเรื่อยแต่เส้นเรื่องหลักจริงๆ คือการค่อย ๆ พาคนดูไปทำความรู้จักเบื้องหลังตัวละครบนยาน Bebop ระหว่างเรื่องมีการปล่อยจิ๊กซอว์ทีละเล็กละน้อย เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของ Spike ที่เริ่มโผล่หน้าโผล่ตามาให้เห็นซึ่งนั่นนำไปสู่หนทางที่ Spike จะต้องปิดฉากอดีตที่ยังตามมาหลอกหลอนนี่เสียที

cowbow bebop รีวิว  julia vicious
Vicious และ Julia สองคนนี้มีอดีตเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Spike กันแน่ !?



อย่างเช่นกรณีของ Jet ….


cowbow bebop รีวิว review screenshot
ศัตรูที่มีทุกเพศทุกวัยทุกเผ่าพันธุ์

ด้วยความที่เนื้อเรื่องมีความจบในตอนและมันค่อย ๆ เผยจิ๊กซอว์เนื้อเรื่องหลักออกมา สำหรับเราที่เคยดูตอนเด็กไม่ครบทุกตอนก็คงไม่เข้าใจและคิดว่านี่มันก็แค่อนิเมะจบในตอนไปเรื่อย ๆ นี่นา ส่วนตัวเป็นพวกชอบดูเนื้อเรื่องที่ตะลุยเส้นเรื่องหลักรัว ๆ เลยไม่ค่อยจะอินกับแนวจบในตอน ทว่าในเวลานี้หลังจากที่ได้ดูจบเมื่อ 2 ปีที่แล้วเราก็ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น (หรือนี่จะเป็นรสชาติของการเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ? 55555) เสน่ห์ของเรื่องนี้มันคือการที่จบในตอนและค่อยๆ มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องหลักทีละเล็กทีละน้อยนี่ล่ะ การได้เห็นทีม Bebop ตามเก็บเคสค่าหัว เดี๋ยวไปเจอเด็กผีไม่แก่ไม่ตายบ้าง เจอลัทธิขายตรงผ่านจอโทรทัศน์บ้าง เจอคุณลุงนิสัยง้องแง้งอย่างกะเด็กแต่ฝีมือยังกะเครื่องจักรฆ่าคนบ้าง ทำให้เราเห็นการถ่ายทอดตัวละครในหลายๆ มิติ เคมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร การต่อปากต่อคำ ต่อบทสนทนาที่ทำให้เรารู้จักพวกเค้าในรูปแบบต่าง ๆ หลาย ๆ เคสมีทั้งฮาปนเศร้า

cowbow bebop รีวิว review screenshot
สนใจเข้าลัทธิของพวกเรามั้ย ??

ในหลายครั้ง เคสที่เกิดขึ้นมันมาพร้อมกับการสะท้อนการใช้ชีวิต พอดูจบในแต่ละตอนก็พลางได้คิดทบทวนและรีเลทว่า “เฮ้อ นี่ล่ะนะชีวิต” ขึ้นมา มันจึงเป็นการสัมผัสประสบการณ์ที่คนดูกลุ่มที่ไม่ชอบการดำเนินเรื่องลักษณะนี้คงจะขยาดและเลิกดูกันไปเสียก่อน ในทางกลับกัน หากใครชอบก็คงจะรักมันเช่นกัน จึงไม่ค่อยแปลกใจหากกลุ่มประชากรเรื่องนี้จะออกมาทางคนที่มีอายุขึ้นมาสักหน่อย มันเสมือนการที่ค่อย ๆ จิบไวน์คำละนิดละหน่อยมากกว่าจะกระซวกเบียร์เข้าคอให้หมดกระป๋องไป นอกจากนั้นมันยังเต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายตะวันตกซึ่งดูจะเป็นแนวถนัดของผู้กำกับ Watanabe จึงทำให้อนิเมะเรื่องนี้เข้าถึงได้ไม่ยากกับกลุ่มคนดูฝั่งตะวันตกและเป็นเรื่องที่คนดูฝั่งตะวันตกโปรดปรานมากเป็นพิเศษ



cowbow bebop รีวิว review screenshot
โลกที่กำลังโรยรา

งานเพลงร้องและดนตรีประกอบแนว Jazz!

งานดนตรีประกอบประพันธ์โดยนักแต่งเพลงมือทองยุค 90 อย่าง Yoko Kanno ที่คนนี้กึ่งๆ จะบอกว่าเป็นคู่บุญ Watanabe ก็ได้เพราะเคยทำงานร่วมกันทั้งในโปรเจกต์ Macross Plus, Space Dandy, Zankyou no Terror โคจรกลับมาเจอกันหลายรอบอยู่น้าาา แถม Yoko Kanno เองยังกลับมาแต่งดนตรีให้กับซีรีส์คนแสดงด้วยนะ แหมมมม่ (ลิงค์ข่าวจาก Pitchfork) ซึ่งกลิ่นอายดนตรีประกอบในเรื่องนี้จะเน้นความ Jazz ซะส่วนมาก อุดมไปด้วยเครื่องเป่าเครื่องดีด สอดแทรกเสียง Harmonica เป็นบางแทร็คตามเซตติ้งคาวบอย ความ wild wild west นี้ (ในขณะที่ผลงานเรื่องอื่นๆ ของ Kanno อย่างเช่น Ghost in the Shell SAC ก็จะออกไปทางอิเล็คโทร) เพลงไม้ตายประจำเรื่องนี้เลยหนีไม่พ้น Tank! ที่เป็นธีมซอง Opening ของอนิเมะซีรีส์ซึ่งธีมซองนี้ถูกนำไปใช้กับซีรีส์คนแสดงด้วย ! เรียกว่าถอดมาทั้งเพลงทั้งภาพ

เปรียบเทียบฉากเปิดระหว่างอนิเมะและซีรีส์คนแสดง โดยมีเพลงประกอบ Tank!

ทั้งนี้เมื่อช่วงโควิด 2020 Kanno ได้ทำคลิปรียูเนียนกับวง SEATBELTS วงที่นำทัพโดย Kanno เองเพื่อ perform เพลง Tank! แบบออนไลน์กันด้วย ถ้าถามว่าเจ๊ Kanno ทำอะไรอยู่ ก็ดูกันเองได้ 5555

คลิปโคเวอร์เพลง Tank! เมื่อ 2020

เพลง Tank! นั่นโดดเด่นเป็นลายเซ็นมาก ๆ คอนเสิร์ตดุริยางต์ Symphonic Anime ที่ม.มหิดลปี 2019 เคยจัดคอนเสิร์ตงานอนิซองและหนึ่งใน playlist ของอีเวนท์ก็คือเพลง Tank! นี่ล่ะ

และในช่วง 2020 เอง นอกจากเพลง Tank! ด้านบนไปแล้ว ก็มีคลิป perform เพลง ED อย่าง The Real Folk Blues 7 นาทีเต็มผ่านเครื่องดนตรีแจ๊สสด มีการเสริมท่อนแร็ปไปจากเดิมที่จะเป็นภาค Instrumental ล้วนแถมยังมีคนพากย์เสียงอิ๊ง Jet และ Spike คือ Beau Billingslea และ Steve Blum ตามลำดับมาจอยซะด้วย (เสียงหล่อทั้งคู่) ยิ่งไปกว่านั้นเจ๊ Kanno ก็โผล่มาแจมผงกหัวในคลิปด้วยนิดๆ หน่อยๆ 5555

ใครที่เป็นสายเสพ Original Soundtrack หรือชอบงาน Jazz โดยส่วนตัว แนะนำให้มาลองไล่ตำอัลบั้ม OST Cowboy Bebop ดู ส่วนตัวเพลงที่เราชอบสุดๆ คือ “Space Lion” ฟังแล้วสงบและใส่บรรยากาศราชสีห์เสมือนดูหนัง The Lion King เลย ช่วง sax ต้นเพลงนั่นชวนให้นึกถึงบรรยากาศหนัง Blade Runner เลย 5555 แถมจังหวะที่ใช้แทร็คนี้ในเรื่องก็สุดมาก ๆ เช่นกัน—ตอนที่ 13 นอกนั้นในองค์รวมของอัลบั้ม เราก็ไม่ได้ชอบมันเกินครึ่งบั้มเหมือนพวกดนตรีประกอบหนัง จะมีชอบเป็นแทร็คๆ ไปมากกว่า (แต่ก็ไม่เคยมีอัลบั้มเพลงประกอบอนิเมะตัวไหนที่เราชอบมันทั้งอัลบั้มล่ะนะ)

คลิปโคเวอร์เพลง Sapce Lion เมื่อ 2020 ก็มีกับเค้าเหมือนกัน ! (เจ๊คันโนะรับบทใส่หมวกกันน็อค ! เอ๊ย หมวกอวกาศละ 5555)

ตามเก็บ Playlist ของ OST Cowboy Bebop ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ รวบรวมโดย Aniplaylist

https://aniplaylist.com/cowboy-bebop?types=OST

cowbow bebop รีวิว review screenshot ost yoko kanno
รวมอัลบั้ม OST Cowboy Bebop ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ รวบรวมโดย Aniplaylist
Yoko Kanno กับการกลับมาเจอกับงานเพลง Cowboy Bebop อีกครั้งในเวอร์ชั่นคนแสดง


cowbow bebop รีวิว review screenshot

งานภาพ งานอนิเมท

งานภาพส่วนตัวเราว่าเฉยๆ คงไม่ถึงขั้นอวย ตัดมาเป็นช็อต ๆ สวย ๆ แบบงานสตู KyoNi แบบนั้น แต่นับว่าทำได้ผ่านเกณฑ์ ลายเส้น, เกรดสีไม่หนีจากงานยุค 90s เรื่องอื่น ๆ ส่วนฉากบู๊บางตอนทำได้น่าสนใจเลย คือตอนที่ Spike โดนลุงเครื่องจักรนักฆ่าล่าน่ะแหละ—ตอนที่ 20 เป็นฉากสู้ที่ส่วนตัวให้คะแนนด้านความระทึกใจและตื่นเต้นที่สุดของซีรีส์นี้แล้ว

ฉากสู้ที่เราชอบที่สุดในซีรีส์ Cowboy Bebop (เริ่มวินาทีที่ 0:58)

คะแนน (8/10)

cowbow bebop รีวิว review screenshot

สรุป รีวิว Cowboy Bebop

Cowboy Bebop เป็นอนิเมะแนวจบในตอนที่แฝงเส้นเรื่องหลักเข้ามาทีละเล็กละน้อย ตัวละครมีความเป็นผู้ใหญ่ตามอายุ เส้นเรื่องเองก็ผู้ใหญ่ ทั้งยังสะท้อนการใช้ชีวิตในหลายๆ ด้าน การดำเนินเรื่องออกไปทางเรื่อยๆ มาเรียงๆ แม้ไม่ได้หวือหวาหรือเดินเรื่องโดยที่เส้นเรื่องหลักขยับเยอะในทุกๆ ตอนนักแต่คนดูจะได้ค่อยๆ ดื่มด่ำบรรยากาศของห้วงอวกาศและทำความรู้จักกับสมาชิกบนยาน Bebop แม้เรื่องนี้จะไม่เข้าทำเนียบขึ้นหิ้งในใจเรา (เรื่องโปรดเราคือ Yamato 2199[+รีวิว]) ทว่าเราก็ได้สัมผัสเสน่ห์ของมันและเข้าใจได้ว่าทำไมเรื่องนี้จึงเป็นที่โปรดปรานของหลาย ๆ คนและยังคงเป็นที่ถูกพูดถึงกันจนถึงทุกวันนี้

หากใครชอบแนวดูเคมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ซึมซับพัฒนาการของตัวละครเป็นพิเศษมากกว่าจะตะลุยเส้นเรื่องหลักมาราธอนเอาๆ เสริมทัพด้วยงานดนตรี Jazz ระดับหูทอง นี่เป็นอีกเรื่องที่คุณควรได้ตามเก็บสักครั้งในชีวิต

ภาพ Stills จากซีรีส์คนแสดง

เรามีความเห็นยังไงกับซีรีส์คนแสดง

ตอนที่เขียนบล็อกนี้คือ ตัวซีรีส์ยังไม่ได้ฉาย เราเห็นข่าวมาพักใหญ่เรื่องโปรเจกต์สร้างตัวนี้นี่แหละ ส่วนตัวก็ได้แต่รอดูจริงๆ เพราะการดัดแปลงอนิเมะมาเป็นคนแสดงมันมีข้อจำกัดหลายอย่าง และบ่อยครั้งที่ดัดแปลงออกมาก็ออกจะแป้ก (Avatar ยุคลุง M.Night, Dragonball) แม้พักหลังจะมีเรื่องที่เริ่มไปวัดไปวาได้แล้วบ้างเช่น Pokemon, Sonic, Ghost in the Shell (เรื่องหลังก็ย่อยให้คนดูดูซะรับสารง่ายเกินจนแอบเสียดายศักยภาพที่น่าจะทำเส้นเรื่องให้เพิ่มมิติได้มากกว่านี้เพราะผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่าแกไปไล่ดูทั้งตัวหนังทั้งตัวอนิเมะ 50 ตอนของสตูดิโอ IG มาครบเนี่ยแหละ) ทั้งนี้ยังรู้สึกทีมสร้างคนแสดงมีความเกร็งในการสร้างซีรีส์ตัวนี้อยู่พอตัวนะ อาจจะกลัวกระแสตีกลับรุนแรงของแฟนอนิเมะที่ค่อนข้างชุก(ในฝั่งตะวันตก)ถ้าเผลอทำออกมาไม่ดี หลายๆ อย่างจึงเหมือนถอดทะลุโลกอนิเมะมาเลย มองอีกแง่ก็คือเคารพต้นฉบับน่ะแล แต่ก็หวังว่าซีรีส์คนแสดงเองก็คงจะมีแนวทางเดินเรื่องที่ทำให้เหมาะสมกับบริบทคนแสดงของมันเองนะ ไม่จำเป็นต้องใส่กลิ่นอายให้เป๊ะจนกลายเป็นว่าเหมือนทุกจุดจนซีรีส์คนแสดงไม่มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ทั้งนี้ได้ยินข่าวว่าจะมีการเพิ่มน้ำหนักตัวละคร Julia ในเรื่องให้มากขึ้น(ลิงค์ข่าวจาก Screenrant) ไม่ใช่ตัวละครที่ผ่านมาผ่านไปเหมือนอนิเมะ (ขนาดแค่ผ่านมาผ่านไปยังสำคัญกับ Spike มากๆเลย 5555) นี่ก็รอดูล่ะ อยากจะดูการตีความเพิ่มของซีรีส์คนแสดง

เรื่องแคสต์ เราไม่ติดเลยนะ ค่อนข้างถูกใจเลย แม้จะยังเป็นปริศนาธรรมอยู่ว่า Edward ไปไหน จะไปโผล่ Season 2 หรือว่าทางทีมคนแสดงได้เล็งเห็นว่าคาแรคเตอร์ Ed ไม่เหมาะกับแนวทางของตัวบทภาคคนแสดง จึงตัดออกไปก็ได้

ดูเรื่องนี้ได้จากไหน ?

Netflix | Hulu | Search หาดู Eng Dub ได้บน Youtube


🔑 9 (2+7) เพลง อนิเมะที่ดนตรีแปลกในวงการ Anisong แถมติดหูอีกต่างหาก

🔑 Ergo Proxy รีวิว อนิเมะไซไฟ ยัยสโมคกี้อายกับนายจืดชืดในโลกดิสโทเปีย + อธิบายตอนจบ

🔑 ติดตามรีวิวอนิเมะอื่น ๆ ได้ใน https://gleegmjournal.com/category/pop-culture/anime/

🔑 Find me in: Anilist | MyAnimeList

Loading

GleeGM

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...