สั่งของ NBA Store บอกเล่าประสบการณ์แบบสั่งเองไม่ผ่านร้านหิ้วโดนไปกี่บาท ?

เป็นปกติที่แฟน ๆ NBA หลายคนจะสั่งสินค้า สั่งของ NBA ที่ตัวเองชอบมาเก็บสะสมไว้ หลายคนอาจไปซื้อเองที่สนาม ตาม Store ในประเทศต่างๆ ฝากเพื่อนที่นู้นซื้อ สั่งร้านหิ้วชิปปิ้ง หรืออาจจะกดสั่งเองมาถึงหน้าบ้าน สำหรับเราที่ตามทีม Phoenix Suns มาร่วม 12 ปี (ตั้งแต่ 2009) มีทุกวิธีแต่ส่วนมากจะใช้บริการร้านรับหิ้ว ซึ่งค่าบริการก็สมเหตุสมผล แต่ล่าสุดก็มีประสบการณ์จับพลัดจับพลูได้ลองสั่งมาถึงหน้าบ้านเอง เหตุเกิดเพราะสินค้าที่อยากได้และราคาถูกเป็นตัวที่อยู่ใน Store ของ UK น่ะนะ 5555 โดยวันนี้เราจะมาอธิบายโดยสังเขปว่าประสบการณ์ร้านหิ้วกับสั่งเอง ค่าใช้จ่ายต่างกันเท่าไหร่


สารบัญ

  1. เว็บสั่งของ NBA มีเว็บไหนบ้าง
  2. สาระเรื่องไซส์
  3. ประเภทเกรดเสื้อบาส Replica, Swingman, Authentic ?
  4. การคำนวณภาษีของสินค้า
  5. ฝากร้านชิปปิ้งหิ้วกับสั่งมาลงหน้าบ้านเอง แบบไหนถูกกว่า ?

สั่งของ NBA Store มีเว็บไหนบ้าง ?

nba store user interface preview

1. เว็บหลัก NBA Store (store.nba.com) ซึ่งถ้าเรากดเข้าไปเว็บมันจะ redirect มาตามโซนของที่อยู่เรา นั่นก็คือเว็บจะเด้งมาที่ลิงค์ nbastore.co.th(เว็บในอันดับ 3) แทน ซึ่งจากหน้า FAQ ของเว็บ co.th นี้เหมือนจะส่งมาจากโกดังใน UK


2. NBA Store EU (nbastore.eu) เป็นเว็บของโซน Europe ครั้งนี้เราสั่งจากเว็บนี้ (สังเกตว่า User Interface ตะกร้ามุมขวาบนจะต่างจากเว็บที่ 1) โกดังส่งที่เดียวกันกับเว็บ co.th

nba store eu user interface preview


3. Shop Official ของทีม เช่น Phoenix Suns : https://shop.suns.com/
4. เว็บจำหน่ายสินค้ากีฬาที่ดีลกับลีกเช่น Fanatics (ร้านนี้ลองตัดบัตรไทยแล้วเหมือนจะไม่ได้), JustSports (ร้านนี้รับบัตรไทย)

สำหรับคนที่ตามทีมไม่แมสอย่างเราจะหาซื้อสินค้าของทีมก็ยากเย็น โดยเฉพาะผู้เล่นที่ไม่ได้เป็น All-Star จะไม่สามารถเดิน walk in หาซื้อตามช็อปในไทยได้ และใน NBA Draft แต่ละปี ลีกจะออกแบบหมวกลายใหม่ประจำปีนั้น ซึ่งเรามักจะเสียเงินให้กับหมวก 5555 (แต่งวดล่าสุด SS20-21 ดีไซน์ไม่ค่อยถูกใจเลยรอด แต่มาตายตรงสินค้าอื่นแทน)



สาระเรื่องไซส์

โดยปกติสินค้าเสื้อบาสมักจะแบ่งเป็น Youth กับปกติไม่ Youth (ไซส์ผู้ใหญ่ว่างั้น) ซึ่ง Youth จะราคายอมเยากว่าไซส์ปกติ โดยราคาเสื้อบาสปกติจะอยู่แถวๆ $110-140 ส่วนเสื้อ Youth อยู่ราว $70 สำหรับคนสูงราว 165cm ตัวไม่หนา Youth L จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

nba youth vs adult size jersey
ความแตกต่างของราคาระหว่างไซส์ Youth กับไซส์ปกติ
side by side compare jersey youth L vs men S
เทียบกันชัด ๆ ระหว่าง Adult S (ซ้าย) และ Youth L (ขวา)

ส่วนหมวกให้เช็ครูปสินค้าให้ดีว่าด้านหลังปรับสายได้มั้ย บางทีมีสินค้าหน้าตาเหมือนกันแต่ต่างกันที่ข้างหลังมีสายป๊อกแป๊กให้ปรับขนาดได้กับตัวที่ไม่มีสาย ถ้าให้ดี ซื้อตัวมีสายมาดีกว่า เผื่อซื้ออันที่ปรับไม่ได้แล้วใส่ไม่พอดีจะเสียเที่ยว

ประเภทเกรดเสื้อบาส Replica, Swingman, Authentic ?

หลายคนน่าจะทราบแล้วว่าเสื้อบาสมีขายสามเกรดหลัก ๆ Replica, Swingman, Authentic ถึงตอนนี้ จะหา Replica บนเว็บไม่เจอแล้วก็นะ คงจะเลิกทำขายไปแล้ว อ๊ะ แล้วแต่ละตัวมันต่างกันยังไง ? สรุปแบบสั้น ๆ

  • Replica งานสกรีนพลาสติกผิวมันๆ เด๋อๆ ผ้างงๆ ใส่นั่งพิงทีเสียวสกรีนหลุด 5555
    แต่ราคาถูกที่สุด
  • Swingman งานสกรีนผิวด้าน เนื้อผ้าเทคโนโลยี Dri-Fit งานเนี๊ยบขึ้น เป็นร่างไฮบริดของ Replica กับ Authentic 555 ราคาอัพขึ้นมาหน่อย
  • Authentic งานเดียวกับที่นักบาสใส่แข่งบนสนาม เนื้อผ้าดีที่สุด และใช้การปักชื่อเอา แน่นอนว่าแพงที่สุด

เนื่องจากว่า Replica เรามีตัวที่เคยซื้อตอน 2010, 2016 ส่วน Swingman เพิ่งซื้อปี 2021 การเทียบกันจัง ๆ แบบนี้อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะเป็นงานมาจากคนละเจน แต่เอาไว้ให้เห็นภาพคร่าวๆ ละกันว่าแต่ละประเภทคืออะไร

grant hill phoenix replica jersey review up close
ภาพตัวอย่างงาน Replica กับงานสกรีนพลาสติกโดด ๆ งอเสื้อทีเสียวสกรีนจะหลุด 5555
mikal bridges jersey swingman review up close
งาน Swingman ที่สกรีนทนทานขึ้น ผิวด้าน
เนื้อผ้าเทคโนโลยี Dri-Fit (ส่วน Authentic ไม่มีตัวอย่าง 555)

กลับเข้าฝั่งเช่นเดิม เสื้อบาสที่เราสนใจรอบนี้คือ Mikal Bridges สี Away แบบ Youth เพราะฟอร์มน้องมาดีมาก !! หลังจากที่ไปสำรวจหลายๆ ร้าน และงบในเวลานั้น (ปลายปี 2020) ไปเจอกับร้านของ Fanatics เป็นงานเสื้อบาสของแบรนด์ Fanatics เลยไม่ใช่ Nike (อีกร้านที่ขายสินค้ากีฬาและมักจะมีสไตล์ที่ไม่เหมือนช็อป NBA โดยตรง ถึงใน reddit บางเสียงจะบ่นกันเรื่องคุณภาพเสื้อ) ราคาประมาณ $48 ถูกมาก ! ทว่าร้านไม่รับบัตรเครดิตไทย เลยลองฝากร้านชิปปิ้ง US ให้กดเค้าก็บอกตัดเงินไม่ผ่าน อ่ะ มูฟออนมาหาเว็บใหม่ (ก็จะเอาให้ได้นะ 5555) มาจ๊ะเอ๋สั่งกับ NBA Store EU
ตกสนนร่วม 2000฿ ต้นๆ

nba store tracking order screenshot
เว็บ track order https://www.nbastore.eu/track-order

หลังจากที่กดสั่งตัดบัตรไป รอสินค้าออกจากโกดัง UK ได้ราว 5 วัน กว่าจะมีการเปลี่ยนสถานะ จาก Processing เป็น Shipped เนื่องจากเราจ่าย Delivery Option แบบ Standard ถูกสุดจึงไม่มีเลข Tracking มาให้ตาม นอนรอไป 555 รอของส่งประมาณ 2-3 สัปดาห์ ของถึงมาถึงไทย

nba store tracking order screenshot
สั่งเสื้อแบบ Custom ด้วยนะ
เพราะที่ร้านไม่มีเสื้อ Bridges สำเร็จรูป 5555

แน่นอนว่าสินค้าราคา 2000฿+ ต้องมีการจ่ายภาษีศุลกากรเพิ่มอยู่แล้ว โดยไปรษณีย์จะทำการส่งใบแจ้งพร้อมราคาประเมินที่ต้องจ่าย เราก็เตรียมเงินและนั่งไปไปรษณีย์สาขาที่เค้าแจ้งไว้ (เป็นสาขาในเขตบ้านเราน่ะแหละ) ทำการจ่ายเงิน(สด) เซ็นกระดาษนิดหน่อยเราก็จะได้สินค้ากลับมาแล้ว !



ใบแจ้งภาษีศุลกากรเวลาสั่งของจากต่างประเทศ
หน้าตาใบแจ้งภาษีศุลกากร

การคำนวณภาษีของสินค้า

ถ้าอยากประเมินราคาภาษีที่ต้องจ่าย สูตรที่เราแกะจากราคาประเมินคือ
ให้ x = ราคาสินค้า

(x * 0.3) + (x * 1.3 * 0.07) + 20


ตัวอย่าง ราคาประเมินสินค้าเรา = อย่างของเราประมาณ $79 แปลงกลับเป็นเงินไทย -> 2300฿
= (2300 * 0.3) + (2300 * 1.3 * 0.07) + 20
= 690 + 209 + 20
= 919 (เราต้องจ่ายให้ไปรษณีย์เท่านี้)

ตามความเข้าใจพจน์แรกคือเพดานภาษี 30% พจน์สองนำราคาดิบสินค้าเราที่รวมกับ 30% มาบวก Vat 7% ส่วน 20 บาทคือค่าดำเนินการไปรษณีย์ซึ่งในภายหลังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้


หมายเหตุ สินค้าแต่ละประเภทจะมีเรท % ที่ต่างออกไป สูตรนี้อาจจะไม่ได้เวิร์คทุกครั้งหากเทียบกับสินค้าประเภทอื่น

เสื้อมาถึงแล้ววว
(หมวกสั่งมาตั้งแต่สองปีที่แล้ว)

mikal bridges phoenix jersey back
ด้านหลัง


สั่งของ NBA Store ฝากร้านชิปปิ้งหิ้วกับสั่งมาลงหน้าบ้านเอง แบบไหนถูกกว่า ?

ลักษณะการสั่งของผ่านร้านชิปปิ้งจะมีสองแบบคือ

  1. ร้านกดสั่งให้ คิดเรทร้านของเค้า เช่น USD ละ 35 เราโอนเงินให้เค้า
  2. เรากดสั่งเอง จ่ายตัดบัตรเราเอง แต่ส่งไปที่ที่อยู่ของโกดังร้านชิปปิ้ง เราก็จะจ่ายเพิ่มแค่ค่าส่งมาไทย+EMS ถึงหน้าบ้าน โดยเค้าจะเคลียร์ภาษีอะไรให้เราแล้ว เราไม่ต้องไปจ่ายไปรษณีย์ที่ไหนเพิ่ม ซึ่งจากราคาชิปปิ้งที่เค้าตั้งเรทไว้ คิดว่าทางร้านคงมีการรวม cost เคลียร์ภาษีไปแล้วด้วย

โดยทั่วไปเราเสียค่าส่งรวม EMS ราวๆ 700-800฿ ลดหลั่นไปแล้วแต่ร้านชิปปิ้งที่ใช้บริการ กับบางร้านอาจมี Customer Service ไม่ดีเช่นถามไปแล้วร้านไม่ค่อยตอบ ตอบอีกที 2-3 วันต่อมา หรือฝากเช็คของพัสดุ เค้าอาจไม่ได้เช็คถี่ถ้วน ซึ่งแลกกับค่าส่งที่ถูก ในส่วนนี้ให้เช็ครีวิวแต่ละร้านกันตามวิจารณญาณ ถ้าถามว่าร้านไหนล่ะ ลองพิมพ์ว่า US Shipping ตามเฟสได้เลย

เนื่องจากว่าครั้งนี้เราโดนค่าภาษีไป 900฿ ไม่หนีกับรอบชิปปิ้งมาก แต่ถ้าคำนวณคร่าวๆ ถ้าสินค้าราคาถูก ให้ส่งตรงมาบ้านเราก็อาจคุ้มกว่าส่งผ่านชิปปิ้ง เพราะการคิดภาษีจากเพดาน 30% จะถูกลง แต่เวลาที่ได้ของก็ไล่เลี่ยกัน หมายเหตุว่าการสั่งเองมาลงหน้าบ้านครั้งนี้เป็นครั้งแรก ฉะนั้น Sample Size อาจจะน้อยเกินไปที่จะบอกว่าใจเราเอนเอียงไปทางไหน แต่ถือว่ามีประสบการณ์ในการสั่งทั้งสองด้านแล้ว และข้อมูลคงจะเพียงพอในระดับนึงที่ให้ไอเดียกับผู้อ่านคร่าว ๆ ในการสั่งแต่ละแบบได้

สำหรับใครที่อยาก connect เราผ่าน Social ช่องทางอื่น ๆ สามารถตามได้ใน About Me นะฮับ


บทความอื่นๆ

🔑 ติดตามบทความอื่น ๆ ใน GleeGourmet’s Journal

🏀 บล็อกหัวข้อกีฬา คลิก | 📖 รีวิวBook หนังสือ |🎧 รีวิว Music ดนตรี | 🎬 รีวิว Film Series หนัง ซีรีส์ | 📺 รีวิว Anime อนิเมะ | 📊 Data Analytics – Tech | สารพันวงการ Data และเรื่อง Techๆ

Loading

GleeGM

My journal on personal life and interests including Data Analytics 📈, Books 📚, Music 🎶, Basketball 🏀, Figure Skating ⛸, Anime, Film 📺, Tarot, Lenormand, Uranian Astrology🔮

You may also like...